การต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ ในประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งยังอาศัยความพยายาม ความกล้าหาญ ตลอดจนการเสียสละอย่างมหาศาลจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ ฯลฯ กว่าทศวรรษแห่งการร่วมกันเปล่งเสียงร้องเรียกสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ในที่สุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาและเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้ต่อไปเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) และประเทศที่สามในเอเชียถัดจากไต้หวันและเนปาลที่มีการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ดี การที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาไม่ได้หมายความถึงการบัญญัติกฎหมายและการนำไปบังคับใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากสมรสเท่าเทียมได้ยืนยันสิทธิอย่างเป็นรูปธรรมในการตระหนักถึงความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคผ่านการคืนสิทธิและให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่าง ๆ แก่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิเช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิการสืบทอดมรดก สิทธิในการตัดสินใจทางการรักษาพยาบาล สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการได้รับสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส ที่สำคัญที่สุดและเป็นใจความหลักคือ ‘สิทธิในการสมรส’ ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศอย่างไร อัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายขนาดไหน มีวิถีทางและการแสดงออกซึ่งต่างไปจากปทัสถานที่สังคมพร่ำบอกว่าถูกต้องเพียงใด มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะรักและสามารถเลือกคู่ครองเป็นของตนเอง มีที่ทางในสังคมอันเป็นพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ต่างจากคู่รักตรงเพศ ด้วยเหตุนี้ สมรสเท่าเทียมจึงเปรียบเสมือนก้าวแรกในการยืนยันว่ากลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถยืนหยัดในสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ
แม้ว่าการรับรองสมรสเท่าเทียมถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ควรจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในปัจจุบัน บุคคลข้ามเพศและกลุ่มคนผู้ปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศ หรือนอน-ไบนารี (non-binary) จำนวนมากยังคงเผชิญกับการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ โดนกีดกันสิทธิต่าง ๆ ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การสมัครงาน รวมถึงบริการสาธารณะอีกมากมายเพียงเพราะมีคำนำหน้านามไม่ตรงกับเพศสภาพ หากอิงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้บัญญัติถึงการรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง คนข้ามเพศ นอน-ไบนารี และกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศล้วนนับรวมอยู่ในนิยามของคำว่า ‘บุคคล’ และสมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐเฉกเช่นมนุษย์คนอื่น ๆ ทุกประการ ดังนั้น กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ (legal gender recognition) จึงเป็นอีกหนึ่งวาระเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องร่วมกันให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดขึ้นจริงต่อไป
กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศคืออะไร และสำคัญอย่างไร?
กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ (gender recognition) คือกฎหมายที่รับรองสิทธิของบุคคลข้ามเพศ นอน-ไบนารี และผู้มีความหลากหลายทางเพศในเรื่องการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามให้สอดคล้องกับเพศสภาพของบุคคลนั้น ๆ ผ่านการแก้ไขเอกสารราชการที่ใช้ระบุตัวตนต่าง ๆ เช่น บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง ใบแจ้งเกิด ใบขับขี่ ฯลฯ ซึ่งนอกจากกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศจะตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของคนข้ามเพศ นอน-ไบนารี และผู้มีความหลากหลายทางเพศตามหลักสากลโลกแล้ว ยังช่วยลดอุปสรรคและข้อจำกัดของปัจเจกในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐที่ควรแบ่งสรรแก่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณสุข โอกาสทางการศึกษา การสมัครงาน รวมถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้คนข้ามเพศ นอน-ไบนารี และผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสในชีวิตทัดเทียมเช่นมนุษย์คนอื่น
สำหรับคนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด หากมองอย่างผิวเผินแล้ว คำสั้น ๆ อย่างนาย-นางสาว เด็กชาย-เด็กหญิงอาจฟังดูไม่สลักสำคัญอะไร และคงไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าการใช้เพื่อระบุตัวตนตามเอกสารราชการต่าง ๆ เช่น บัตรประชาชน ใบแจ้งเกิด ฯลฯ แต่สำหรับบุคคลข้ามเพศและนอน-ไบนารีนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป คำสั้น ๆ เหล่านี้กลับมีความหมายอันยิ่งใหญ่ซึ่งหมายความถึงชีวิตและตัวตน หากปราศจากคำนำหน้านามที่เปรียบเสมือนการนิยามตนเองของบุคคลนั้น ๆ แล้ว นอกจากจะรู้สึกราวกับเป็น ‘คนอื่น’ อยู่ตลอดเวลา ยังถูกจำกัดความใฝ่ฝัน ความมุ่งหวัง รวมไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกมิติ
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีความพยายามนำเสนอและผลักดันร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา รัฐสภาได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. นำเสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ ธัญวัจน์ได้อภิปรายถึงความสำคัญจำเป็นและเร่งด่วนของการมีกฎหมายฉบับนี้ ทว่าผลสรุปออกมาว่าที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการ จึงยังผลให้ร่างดังกล่าวเป็นอันตกไป
อย่างไรก็ดี แม้ที่ประชุมจะมีมติไม่รับหลักการดังกล่าว แต่ทุกภาคส่วนก็ยังคงต่อสู้และทำงานร่วมกันอย่างไม่ลดละ โดยพรรคก้าวไกลได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากภาคประชาสังคมเพื่อร่วมกันหารือ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขจนเกิดเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะถูกเรียบเรียงและจัดเตรียมนำเสนอให้สภาพิจารณาอีกครั้งในการประชุมสมัยถัดไป โดยร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศฉบับใหม่นี้ยืนยันหลักการสำคัญเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามและการระบุเพศให้เป็นไปตามเจตจำนงและอัตลักษณ์ทางเพศของตน (self-determination) โดยบุคคลข้ามเพศ นอน-ไบนารี หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแก้ไขคำนำหน้านามตามระบบเดิม (นายหรือนางสาว) ได้ นอกจากนี้ ยังมีสิทธิเลือกใช้คำนำหน้านามที่มีลักษณะเป็นกลางทางเพศ เช่น “นาม” รวมไปถึงกลุ่มอินเตอร์เซ็กซ์ที่ต้องการระบุเพศตามเพศทางกายภาพ และไม่ต้องการให้มีการเลือกเพศโดยแพทย์ สามารถเลือกระบุคำนำหน้านามหรือไม่ก็ได้
กล่าวโดยสรุป แม้สมรสเท่าเทียมจะเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญของสังคมไทยในการไปสู่สังคมแห่งการยอมรับและโอบรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น หากแต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ตราบใดที่คนข้ามเพศและนอน-ไบนารีจำนวนมากยังคงถูกปฏิเสธและลบเลือนตัวตน โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เราจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อประกันสิทธิ เสรีภาพ รวมไปถึงให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่คนข้ามเพศและนอน-ไบนารี ตราบใดที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงเผชิญกับการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ สมรสเท่าเทียมอย่างเดียวจึงไม่อาจเพียงพอในการรับรองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีได้ ด้วยเหตุนี้ จึงยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่จำต้องอาศัยทั้งความพยายาม การต่อสู้เรียกร้อง ความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การสร้างความเข้าใจ’ แก่ทุกคนในสังคมเพื่อให้เกิดความตระหนักและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรถูกพรากไปเพียงเพราะเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง เพื่อความปรารถนาในการสร้างสังคมที่พร้อมทำความเข้าใจ เคารพ และโอบรับอัตลักษณ์อันหลากหลายที่เต็มไปด้วยความสวยงามอย่างแท้จริง
เนื้อหา ปัณฑารีย์ มะลิวัลย์
พิสูจน์อักษร ภคพร ศิกษมัต
ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์
อ้างอิง
https://www.the101.world/marriage-equality-bill/
https://www.idea.int/blog/explainer-crucial-fight-legal-gender-recognition
https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2566-oct5
Leave a Reply