“ubi societus,ibi jus”
เป็นคำกล่าวในภาษาละตินซึ่งมีความหมายว่า “ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย” สามารถแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายในฐานะเครื่องมือควบคุมความสงบเรียบร้อยของคนในสังคม เพราะหากพูดตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนมีความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับบางอย่างให้เคารพปฏิบัติตาม คนทุกคนก็อาจจะมุ่งเน้นแต่ประโยชน์ส่วนตน เบียดเบียนกันส่งผลให้เกิดความวุ่นวายไม่รู้จบ
ประเทศไทยในปัจจุบันมีกฎหมายขึ้นมาหลากหลายประเภทตามความจำเป็นที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ พระราชกฤฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น แต่องค์กรที่รับผิดชอบหน้าที่ในการตรากฎหมายเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรเดียวกันทั้งหมด ซึ่งทำให้มีโอกาสที่กฎหมายซึ่งถูกตราขึ้นมาจากต่างองค์กรจะมีบางส่วนที่ขัดแย้งกัน จึงจำเป็นต้องมีการลำดับศักดิ์กฎหมายขึ้นมาเพื่อกำหนดว่าหากกฎหมายทั้งสองขัดแย้งซึ่งกันและกัน จะต้องยึดตามกฎหมายใดเป็นหลัก
ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในประเทศไทยสามารถเรียงลำดับจากสูงไปต่ำได้ ดังนี้1
- รัฐธรรมนูญ
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
- พระราชบัญญัติ,พะราชกำหนด
- พระราชกฤษฎีกา
- กฎกระทรวง
- ประกาศกระทรวง
- ข้อบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยเมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายใด ๆ จะต้องยึดตามกฎหมายที่มีลำดับสูงกว่าเสมอ
แต่นอกจากปัญหาเรื่องความขัดแย้งของกฎหมายแล้ว ยังมีปัญหาในการตีความตัวบทกฎหมายอีกด้วย ประเทศไทยจึงมีการจัดตั้ง “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2489 เพื่อทำหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ แต่ในช่วงแรกที่มีการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้น อำนาจตีความรัฐธรรมนูญยังเป็นอำนาจร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ยังมิใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียวเหมือนในปัจจุบัน
“ศาลรัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นมาครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เพื่อแทนคณะตุลาการที่ถูกยุบลงไป ซึ่งประเทศไทยได้รับเอาโมเดลศาลรัฐธรรมนูญนี้มาจากประเทศเยอรมัน รวมถึงรับเอาอำนาจในการตรวจสอบยุบพรรคการเมือง อำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอำนาจในการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในทางที่ผิดของประชาชนมาใช้ด้วย2 กระนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีนั้น จะประกอบด้วยตุลาการจำนวน 16 คน เป็นระบบองค์คณะคู่ องค์คณะละ 8 คน มาจากการคัดเลือกของสภาผู้แทนราษฎร 8 คน และมาจากการคัดเลือกของสภามลรัฐ 8 คน คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นตุลาการ ต้องสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายและเป็นนักนิติศาสตร์ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเจนจัด ต่างจากตุลาการของประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ3
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ (รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 มีตุลาการจำนวน 15 คน)
- ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไม่น้อยกว่า 3 ปี จำนวน 3 คน (รธน. พ.ศ. 2540 5 คน)
- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จํานวน 2 คน (รธน. พ.ศ. 2540 2 คน)
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่ง ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวน 1 คน (รธน. พ.ศ. 2540 5 คน)
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่ง หรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวน 1 คน (รธน. พ.ศ. 2540 3 คน)
- ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จํานวน 2 คน (รธน. พ.ศ. 2540 ไม่มี)
คดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่
- คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
- คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
- คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้เลิกการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- คดีที่ประชาชนหรือชุมชนฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
- คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิวุฒิสภา
- คดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้
- คดีเกี่ยวกับการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
- คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
- คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี
- คดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
- คดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
- คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
- คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาล4
ทั้งนี้ขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมาจากศาลรัฐธรรมนูญในอดีตค่อนข้างมาก กล่าวคือในอดีตศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นมาก และสามารถแบ่งได้เป็น 6 ด้านคือ 1.การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย 2.การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ 3.การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ร่วมกับองค์กรอิสระ 4.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5.การปกป้องคุ้มครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6.การปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน5
หากมองจากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในด้านการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายขององค์กรนั้นได้ผันแปรไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จากองค์กรที่มีหน้าที่ในการตีความกฎหมายอย่างเป็นกลาง สู่องค์กรที่มีอำนาจควบคุมการเมือง ดังเช่นที่มีการยุบพรรคการเมือง และปลดนายกออกจากตำแหน่งในช่วงที่เพิ่งจะผ่านมาได้ไม่นาน
คดีการยุบพรรคการเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเริ่มจากคดีการยุบพรรคไทยรักไทยโดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ด้วยเหตุผลว่ามีการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทำการขัดต่อข้อกฎหมาย และจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง และยังยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยในวันเดียวกันนั้นเอง ทำให้ในวันนั้นกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปเป็นเวลา 5 ปีทั้งสิ้น 133 คน
ถัดมาในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผู้ชนะการเลือกตั้งและได้รับตำแหน่งนายกคือ นายสมัคร สุนทรเวช แต่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 นายสมัครถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพการเป็นนายกเพราะการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ส่งผลให้ต้องมีการเสนอชื่อผู้ที่จะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และได้ผลลัพธ์เป็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ก็เกิดประเด็นทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้งเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ด้วยสาเหตุการทุจริตการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน นายยงยุทธ ติยะไพรัช6 ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย จนท้ายที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี7 ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งจนมีการยุบสภาตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรซึ่งให้ไว้ ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ด้วยปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ย้อนกลับไปในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 พรรคพลังประชาชนไม่ได้เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ถูกยุบ หากแต่ยังมีพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทยที่ถูกยุบด้วยเหตุผลเดียวกันนี้อีกด้วย ทำให้รวมทั้งสิ้นแล้วในวันนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 109 คนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติในกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติยื่น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่า “โดยหลักการ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในฐานะที่เคารพเหนือความพึงที่จะถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง” ดังนั้นการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติ เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 13 คนเป็นเวลา 10 ปี8
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ในกรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191 ล้านบาท เพราะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72 และระบุว่า แหล่งที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองหนึ่ง ๆ ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในมาตรา 62 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมองว่า ใน พ.ร.ป. ไม่มีการรับรองไว้ว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ จึงเข้าข่ายไม่โปร่งใส9
และไม่นานมานี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษายุบพรรคก้าวไกล กรณีมีความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเข้าข่ายล้มล้างการปกครองและพยายามใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข10
เท้าความกลับไปในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งได้ผลออกมาว่าสส.พรรคก้าวไกลได้จำนวนที่นั่งในสภาเป็นอันดับที่หนึ่งด้วยจำนวน 151 ที่นั่ง ตามมาด้วยสส.พรรคเพื่อไทยจำนวน 141 ที่นั่ง11 โดยหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ๆ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อตกลงจัดตั้งรัฐบาลเสียงผสม12 แต่ถัดมาในวันที่ 13 กรกฎาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์แคนดิเดตนายกพรรคก้าวไกลกลับพลาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไปเนื่องจากคะแนนเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภา และได้เสียงสนับสนุนจากสว.เพียงแค่ 1313 เสียงปัดตกเสียงประชาชนกว่า 14 ล้านที่เลือกพรรคก้าวไกล14
วันที่ 19 กรกฎาคม ได้มีการโหวตว่าสามารถเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำในตำแหน่งนายกได้หรือไม่ และก็เป็นอีกครั้งหนี่งที่กลุ่มคนจำนวนไม่กี่ร้อยได้ทำการตัดสินใจแทนประชาชนในประเทศนับสิบล้าน15 ส่งผลให้นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถรับตำแหน่งนายกได้ แม้ว่าจะได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากการเลือกตั้ง
22 สิงหาคม สภาได้มีการโหวตนายกครั้งที่ 3 ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกจากพรรคเพื่อไทยก็ผ่านการโหวตไปได้ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 482 เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา ทำให้นายเศรษฐา ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
แต่เรื่องน่าประหลาดใจก็ยังคงเกิดขึ้นมาให้คนไทยได้ประสบอีกอย่างไม่หยุดยั้งเมื่อในวันที่ 14 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยถอดถอนนายเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 5:4 เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประเด็นการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบานขึ้นเป็นรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกฯ ทั้งที่นายพิชิตเคยถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นรัฐมนตรี16 จากประเด็นทั้งหมดที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาททางการเมือง ดังได้เล่ามายิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าในตอนนี้องค์กรที่จากเดิมถูกตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อตีความกฎหมาย ได้กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากจนสามารถเข้ามาแทรกแซง และพลิกการเมืองได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งกว่าการควบคุมการเมืองให้เป็นไปในแบบที่ควรจะเป็น แต่เป็นเหมือนการครอบงำให้การเมืองเป็นไปในแบบที่ตนเองอยากให้เป็น ซึ่งลักษณะการขยายตัวของอำนาจตุลาการเช่นนี้ถูกเรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” และแน่นอนว่าตุลาการภิวัฒน์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่นในฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1986 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบกฎหมายสำคัญจากฝ่ายบริหาร 16 ฉบับ และมีการแก้ไขรวมถึงปัดตกไปเกือบทั้งหมด17 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มพูนของอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้ามาครอบงำนโยบายและการออกกฎหมาย ทั้งนี้ถึงจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในประวัติศาสตร์ทั้งการเมืองไทยและการเมืองโลก หากแต่เรื่องช่วงเวลาที่เกิดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังที่เห็นได้ว่าในฝรั่งเศสนั้นตุลาการภิวัฒน์นั้นเกิดในปี ค.ศ. 1986 หรือปี พ.ศ. 2529 กลับกันเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในไทยเกือบ 40 ปีต่อมา จึงน่าตั้งคำถามว่าการเมืองไทยไม่ได้รับบทเรียนใด ๆ จากประวัติศาสตร์การเมืองในต่างประเทศเลยหรือ ทำไมปัญหาทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเรากระทำการใด ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันเหตุการณ์แบบนั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้เลย หรือเป็นเพราะกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในมือสนใจแต่ผลประโยชน์ส่วนตน และใช้อำนาจที่มีไว้เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนมาขัดขวางเสียงจากประชาชนเอง
เนื้อหา: พิมพ์รภัทร ทักษะศุภการ
พิสูจน์อักษร: ภคพร ศิกษมัต, ฐิญาดา บุญกูล
ภาพ: ปุณิกา ยะมาภัย
- https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=16282
- https://www.the101.world/poonthep-sirinupong-interview/
- https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jidir/article/view/263076https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jidir/article/view/263076
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
- https://library.parliament.go.th/th/radioscript/xanackhxngsalraththrrmnuuytamraththrrmnuuyaehngrachxanacakrithy-phuththsakrach-2560
- http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ยงยุทธ_ติยะไพรัช
- http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร_ครั้งที่_25_วันที่_23_ธันวาคม_2550#.E0.B8.81.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B9.80.E0.B8.A5.E0.B8.B7.E0.B8.AD.E0.B8.81.E0.B8.95.E0.B8.B1.E0.B9.89.E0.B8.87.E0.B8.AA.E0.B8.A1.E0.B8.B2.E0.B8.8A.E0.B8.B4.E0.B8.81.E0.B8.AA.E0.B8.A0.E0.B8.B2.E0.B8.9C.E0.B8.B9.E0.B9.89.E0.B9.81.E0.B8.97.E0.B8.99.E0.B8.A3.E0.B8.B2.E0.B8.A9.E0.B8.8E.E0.B8.A3.E0.B8.84.E0.B8.A3.E0.B8.B1.E0.B9.89.E0.B8.87.E0.B8.97.E0.B8.B5.E0.B9.88_25_.E0.B8.A7.E0.B8.B1.E0.B8.99.E0.B8.97.E0.B8.B5.E0.B9.88_23_.E0.B8.98.E0.B8.B1.E0.B8.99.E0.B8.A7.E0.B8.B2.E0.B8.84.E0.B8.A1_.E0.B8.9E..E0.B8.A8.2550
- https://thaipublica.org/2019/03/thailand-election-2562-48/
- https://www.bbc.com/thai/thailand-51582581
- https://www.the101.world/pannika-wanich-one-on-one-ep-335/
- https://election2566.thestandard.co/
- https://www.bbc.com/thai/articles/c4nkxd09md1o
- https://www.bbc.com/thai/articles/cgedwq74dn9o
- https://blog.cofact.org/election-2023-vote-results/
- อ้างแล้ว
- https://www.ilaw.or.th/articles/41083
- https://www.luehistory.com/เบื้องหลังตุลาการภิวัฒน์ในต่างประเทศ-การคานอำนาจทางการเมืองโดยฝ่ายตุลาการ/
Leave a Reply