เสียงสะท้อนจากรัฐสภา: ทำไมไม่พอใจในสิ่งที่เป็น แค่สมรสเท่าเทียมก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ?
การต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ ในประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งยังอาศัยความพยายาม ความกล้าหาญ ตลอดจนการเสียสละอย่างมหาศาลจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ ฯลฯ กว่าทศวรรษแห่งการร่วมกันเปล่งเสียงร้องเรียกสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ในที่สุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาและเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้ต่อไปเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) และประเทศที่สามในเอเชียถัดจากไต้หวันและเนปาลที่มีการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี การที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาไม่ได้หมายความถึงการบัญญัติกฎหมายและการนำไปบังคับใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากสมรสเท่าเทียมได้ยืนยันสิทธิอย่างเป็นรูปธรรมในการตระหนักถึงความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคผ่านการคืนสิทธิและให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่าง ๆ แก่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิเช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิการสืบทอดมรดก สิทธิในการตัดสินใจทางการรักษาพยาบาล สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการได้รับสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส ที่สำคัญที่สุดและเป็นใจความหลักคือ ‘สิทธิในการสมรส’ ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศอย่างไร อัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายขนาดไหน มีวิถีทางและการแสดงออกซึ่งต่างไปจากปทัสถานที่สังคมพร่ำบอกว่าถูกต้องเพียงใด มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะรักและสามารถเลือกคู่ครองเป็นของตนเอง มีที่ทางในสังคมอันเป็นพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ต่างจากคู่รักตรงเพศ … Continued