ขอโทษปุ๊ปจบปั๊ป ? : ส่องแง่มุมต่าง ๆ ของการขอโทษ
ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ตั้งแต่เรามีลมหายใจและใช้ชีวิตอยู่เรื่อยมาตั้งแต่เด็กจนโต เราพูดคำว่า “ขอโทษ” ไปแล้วกี่ครั้ง แล้วทำไมเราถึง “ต้อง” ขอโทษในเรื่องที่เราพลั้งพลาดไปด้วย คำถามนี้เกิดขึ้นในตัวผู้เขียนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเราจะเห็นนักการเมืองต่างออกมาพูดขอโทษ ขอโทษ และก็ขอโทษ จนอาจนับได้ว่ากลายเป็นแม่พิมพ์ยอดฮิตผลิตซ้ำของเหล่านักการเมืองเวลาพวกเขาทำผิดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดีลงไป กลายเป็นความเคยชินของคนโดยทั่วไปแล้วว่า “อ๋อ ก็ขอโทษแล้วก็ให้จบ ๆ ไป”
จากวลีดังกล่าวซึ่งผู้เขียนได้ยินมานั้น คำถามก็ผุดขึ้นมาว่า แค่ทำหน้าเศร้า พูดว่าขอโทษ แล้วเรื่องก็จบอย่างง่ายดายเช่นนั้นหรือ และมองฉากทัศน์ถัดต่อไปว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำพลาดไปนั้นจะได้รับการเยียวยาหรือแก้ไขอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
การขอโทษคืออะไร และขอโทษทำไม
แม้ในแวดวงวิชาการยังไม่มีความเห็นพ้องว่า “ขอโทษ” นั้นมีความหมายว่าอย่างไร แต่หากผู้เขียนย้อนกลับไปตอนยังเด็ก เมื่อเราทำผิดไป คุณครูก็มักจะให้เราพูดขอโทษและให้สัญญาว่าจะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก ในตอนนั้น ผู้เขียนก็ยอมรับว่าก็ขอโทษไปแบบขอไปที เพราะเชื่อว่าเพียงแค่ขอโทษแล้วทุกฝ่ายก็น่าจะแฮปปี้ ด้วยเหตุนี้ สำหรับผู้เขียนเอง คำว่า “ขอโทษ” จึงเปรียบเหมือนแผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปและไม่ให้เลือดไหลออกมาก็เท่านั้น
แต่ก็ยังมีนักวิชาการหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการขอโทษอยู่ เช่น บทความเรื่อง “การกล่าวขอโทษและการรับคำขอโทษเป็นหนึ่งในปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ลึกซึ้งที่สุด” แอร์รอน ลาแซร์ (Aaron Lazare) อธิการบดีและคณบดี University of Massachusetts Chan Medical School เขียนเปิดไว้ในบทแรกของหนังสือ “On Apology” ค.ศ. 2004 ระบุว่า คำขอโทษมีพลังในการรักษาเยียวยาความรู้สึกขายหน้าและโกรธเคือง ไม่ให้มีความรู้สึกอยากแก้แค้นเอาคืน คำขอโทษจึงเป็นการให้อภัยกับอีกฝ่ายหนึ่ง และหวนคืนความสัมพันธ์จากเดิมที่มีรอยร้าวสู่ความสัมพันธ์ฉันมิตร การริเริ่มศึกษาการขอโทษของมนุษย์อย่างเอาจริงเอาจังเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1991 โดยนักบุญนิโคลัส ทาวูชิส (Nicholas Tavuchis) สังคมวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเขาได้กล่าวว่า การแสดงคำขอโทษนั้นไม่ใช่การ “พูด” ว่าขอโทษ แต่ “รู้สึก” ขอโทษ และต้องสัญญาอีกว่าจะไม่ทำผิดเหมือนเดิมอีก โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่จากจุดเล็ก ๆ อย่างการขอโทษที่ลืมนำการบ้านมาส่งคุณครู ขอโทษที่ผิดเวลานัดกับเพื่อน ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างการขอโทษที่ประเทศของตนในอดีตได้กระทำทารุณไว้ในช่วงสงครามที่ผ่านมา
ยุคขอโทษฟีเวอร์
ช่วงปี 1990s ผู้คนมองว่าปี 2000 เป็นปีแห่งการ “เริ่มต้นใหม่” พยายามชะล้างตัวเองจากความรู้สึกขุ่นเคืองใจกัน และทิ้งเรื่องราวเก่า ๆ ไว้เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เรียกได้ว่าเป็น “ยุคแห่งการขอโทษ” (Age of Apology) ในช่วงนี้ถือเป็นยุคบูมของการขอโทษอย่างเห็นได้ชัดทั้งในระดับเพื่อน ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับประเทศหรือระดับเวทีโลก เช่น คิม แด-จุง (Kim Dae-jung) นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ตอบรับคำขอโทษจากรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อครั้งจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยกล่าวว่า “เราจะต้องจัดการกับเรื่องในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนจะเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21” ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 (John Paul II) กล่าวขอโทษในนามของคริสต์จักรสำหรับความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 2,000 ปีที่ผ่านมา คำขอโทษของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีว่าเป็นความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับผู้นับถือศาสนาคริสต์ในนิกายอื่น ๆ และรวมถึงศาสนาอื่น ๆ อีกด้วย
คำขอโทษและคำแก้ตัว
ในเพลง “Sorry” ของจัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ซึ่งในท่อนฮุกร้องว่า “Yeah, is it too late now to say sorry? … Yeah, I know that I let you down. Is it too late to say I’m sorry now?” แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเขาในการกล่าวขอโทษต่อคนรักของเขาในสิ่งที่ได้พลั้งพลาดไปพร้อมขอโอกาสครั้งที่สอง “So let me, so let me redeem myself tonight, because I just need one more shot, a second chance.” อย่างไรก็ดี มันมีเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างคำว่าขอโทษและคำแก้ตัวอยู่ อย่างในเพลง “ต้องโทษดาว” ของเบิร์ด ธงไชย ซึ่งเล่าถึงความรู้สึกลึกซึ้งซึ่งซ่อนเก็บไว้ แต่ด้วยบรรยากาศต่าง ๆ พาไป อย่างคืนนั้นพระจันทร์ดันสวยพอดิบพอดี เหลือเพียงแต่สองคนด้วยกัน เขาจึงต้องเอ่ยปากออกไปว่ารักเธอ ผู้เขียนมองว่านั่นไม่ใช่คำขอโทษที่พลั้งปากพูดไป แต่เป็นเพียงการแก้ตัวอ้างสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้ตนได้ทำพลาดไปก็เท่านั้น คำว่าขอโทษไม่ควรมาพร้อมกับคำแก้ตัว เพราะฉะนั้นการขอโทษที่เรียกได้ว่าเป็นการขอโทษอย่างแท้จริง ไม่ควรลงท้ายด้วยคำว่า “แต่”
นักการเมือง–นักการขอโทษ
ผู้เขียนค้นพบบทความหนึ่งที่น่าสนใจในวารสารการวิจัยสันติภาพ (Journal of Peace Research) ว่าด้วยเรื่อง “ยุคแห่งการขอโทษ” ซึ่งได้รวบรวมคำขอโทษเหยื่อหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทำเป็นฐานข้อมูล ประเทศญี่ปุ่นได้ขอโทษไปจำนวนทั้งสิ้น 57 ครั้ง ซึ่งถือว่ามากที่สุดและขึ้นนำประเทศลำดับที่สองคือเยอรมนีที่จำนวน 28 ครั้ง โดยการขอโทษนั้นมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การกำหนดวันรำลึกถึง (commemoration) การเยือนทางการทูต การออกจดหมายเปิดผนึก การทำร่างกฎหมาย ไปจนถึงการจัดแถลงข่าว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีการขอโทษที่มักเห็นได้บ่อยเช่นกันในแวดวงการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น คือการโค้งตัวลงพร้อมกล่าวขอโทษในสิ่งที่พลั้งพลาดไป อาทิ คิโยฮิโกะ โทยามะ (Kiyohiko Toyama) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ประกาศยอมรับว่าเขาได้เที่ยวผับกลางคืนในช่วงที่โควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรง เป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โทยามะได้โค้งตัวลงขอโทษและลาออกหลังจากนั้นไม่นาน เช่นเดียวกันกับ คัตสึยูกิ คาวาอิ (Katsuyuki Kawai) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ได้ประกาศลงจากตำแหน่งเพราะ “แตงโมและมันฝรั่ง” หลังเขาละเมิดกฎหมายเลือกตั้งโดยการมอบของขวัญซึ่งข้างในบรรจุแตงโม มั่นฝรั่ง และข้าวโพด ให้แก่ประชาชนในเขตเลือกตั้งโตเกียวของตน
ขอโทษแล้วก็จบ ?
ย้อนกลับไปยังการขอโทษตามแนวคิดของนิโคลัส ทาวูชิสว่าการขอโทษต้องมาทั้งการเปล่งเสียงและรู้สึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำไป คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขารู้สึกขอโทษจริง ๆ และความผิดที่เกิดขึ้นนั้นเกิดเป็นผลกระทบอย่างไร? ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ “พลาด” ไป?
ในห้วงเวลาที่ผ่านมา หนึ่งในการขอโทษทางการเมืองที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุด คงไม่พ้นการขอโทษต่อข้อกล่าวหาคุกคามทางเพศของ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ (ปูอัด) สส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ซึ่งไชยามพวานได้หลั่งน้ำตาพร้อมโค้งขอโทษไปกว่า 8 ครั้ง รวมระยะเวลาราว 45 วินาที ตลอดทั้งวันที่ 3 ที่ผ่านมา โดยยึดตามแนวคิดของทาวูชิสเรื่ององค์ประกอบของคำขอโทษที่สมบูรณ์ จะเห็นได้ว่าแม้จะมีการกล่าวขอโทษออกมาก็จริง แต่ในแง่ของความรู้สึก (ผิด) ของไชยามพวานที่มีต่อการกระทำของตนซึ่งถูกกล่าวหานั้น จะจริงหรือว่าจะเสแสร้งขึ้นมา คงไม่สามารถพิสูจน์ได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่พอมองเห็นอยู่คือความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำทั้งเจตนาหรือไม่เจตนาของไชยามพวานซึ่งยากจะหาวิธีเยียวยาความรู้สึกไม่ปลอดภัยของพวกเขาได้
การขอโทษเป็นสิ่งที่ดี และควรได้รับการส่งเสริมให้ทำทั้งในวงแคบ ๆ เช่น เพื่อนหรือครอบครัว และในวงใหญ่อย่างการเมืองซึ่งมีต่างผู้คนรายล้อมให้ความสนใจ การขอโทษจะเป็นการบรรเทาความรู้สึกขุ่นเคืองข้องใจได้ไม่มากก็น้อย เป็นเครื่องแสดงถึงการยอมรับผิดในสิ่งที่ได้ทำไป แต่หากจะเหมารวมว่า “ทุกการขอโทษคือการขอโทษ (จริง ๆ)” นั้นคงไม่ใช่เรื่องดีนัก และทุกการขอโทษก็ไม่ได้หมายความว่าความผิดที่พลั้งพลาดไปจะได้รับแก้ไขเหมือนแผ่นพลาสเตอร์เกรดอย่างดีด้วยเช่นกัน ทุกความผิด (พลาด) ย่อมตามมาด้วยบาดแผลไม่ทั้งทางกายภาพก็ทางใจ สิ่งต่อไปที่ (เขา) ควรพิจารณาคือตระหนักถึงผลของการกระทำของตน และตนจะทำเช่นไรไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแบบเดิม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นการผลิตซ้ำของวาทกรรมการขอโทษแบบทำไปขอทีให้มันจบ ๆ ไป เหมือนที่ผู้เขียนเคยทำตอนยังเป็นเด็ก
อ้างอิง
https://www.jstor.org/stable/2781559?seq=1
https://journals.sagepub.com/doi/epub/10.1177/00223433211024696
https://www.businesstimes.com.sg/international/melons-potatoes-were-downfall-cabinet-ministers-who-resigned-japan
เนื้อหา ภัคภณ ประดิษฐกุล
พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน
ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์
Leave a Reply