ผู้คน – ชุมชน – ข้างบน องค์ประกอบที่ไม่ลงรอยกัน ตอน 2
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสิงห์ดำพาไปเจอ “ปทุมวันฟิลด์ทริป” โดยฝ่ายพัฒนาสังคม สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏในบทความเป็นความเห็นตามความเข้าใจของผู้ให้สัมภาษณ์สลับการสังเกตวิเคราะห์ของผู้เขียน
หลังจากที่เราได้เดินทางออกมาจากชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ (เนื้อหาอยู่ในตอน 1) ก็เริ่มการเดินเท้าต่อใช้เวลาไม่นานประมาณ 5 นาที ถึงชุมชนกุหลาบแดงที่บรรยากาศดูร่มเย็นกว่าชุมชนบ่อนไก่ที่เพิ่งได้ไปมา
ชุมชนกุหลาบแดงของคุณกุหลาบ?
เราได้เข้าไปยังสุดซอยกลางของชุมชนกุหลาบแดงโดยคำอนุญาตของพี่หนิง ผู้ดูแลประสานงานของชุมชน ระหว่างทางเธอชี้ให้เห็นถึงจุดที่ถูกไฟไหม้และมีการตั้งสังกะสีล้อมพื้นที่ไว้เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่มีผู้ใดสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้เว้นแต่จะขอจัดกิจกรรมใด ๆ เป็นรายกรณี
พี่หนิงเรียกพี่เหน่งให้ออกมาจาก “บ้าน” หลังสีเขียวที่ข้างหน้ามีประตูเหล็กสีแดงและผ้ากันแสงจากภายนอกสีดำทึบ เพื่อช่วยให้ข้อมูลกับเรา
เช่นเดียวกันกับป้านุ้ยที่เราพบที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ พี่เหน่งก็ประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านในสำนักงานย่านคลองเตย เดินทางด้วยรถเมล์ไม่นานก็ถึง รายได้ก็พอใช้ชีวิตประจำวันได้ ลงหลักปักฐานที่ชุมชนกุหลาบแดงได้เกือบ 20 ปี ที่อาจจะแตกต่างกันไปบ้างคือพี่เหน่งมีบ้านเลขที่และทะเบียนราษฎรตามกฎหมาย และ “บ้าน” ของพี่เหน่ง รวมถึงชุมชนกุหลาบแดง ยังไม่มีวันกำหนดชี้ชะตาให้ต้องย้ายออกเมื่อใดเหมือนกับชุมชนบ่อนไก่
เราถามพี่เหน่งว่า “ถ้าสมมติทรัพย์สินฯ ให้ออก มีแผนไหมครับ ว่าจะทำอย่างไรต่อ”
“ไม่รู้เลย อาจจะไปอยู่ที่อื่นหรือยังไง เขาจะมีที่ให้เราอาศัยหรือเปล่า” พี่เหน่งตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉยแต่ดูกังวลเล็กน้อย “ก็ทำงาน ต้องรู้จักใช้ตัง […] เราก็อยู่นิ่ง ๆ ถึงเวลาไล่เราก็ต้องไป ต้องยอมรับ เขาบอกว่าจะอีกสามปีห้าปี ตรงนี้ (โครงการ One Bangkok) ทำดีมาก สร้างตึกใหญ่โตอลังการ แต่เรายังหาที่อยู่ของเราไม่ได้ว่าจะไปอยู่ไหน”
ในแง่ของการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก พี่เหน่งระบุว่า มีเข้ามาช่วยเหลือบ้าง ขณะที่หากเกิดเหตุอะไร หน่วยงานดับเพลิงจะเข้าสนับสนุนพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เธอแสดงความกังวลว่ามีทางเข้าออกเพียงแค่ทางเดียว (คือปากซอย) อาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานหรือการอพยพหนีเพลิงนั้นล่าช้า แม้จะมีถังดับเพลิงตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ บ้างพอประมาณ
และเช่นเดียวกันกับตามอาคารบ้านเรือนและห้องชุดที่เราพบในแถบชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนกุหลาบแดง (และชุมชนซอยพระเจนที่จะได้กล่าวถึงต่อไป) ตามผนังจะมีการพ่นอักษรและตัวเลขห้อยท้ายไว้เห็นอยู่จนชินตา เราตั้งคำถามในใจตั้งแต่เริ่มการลงพื้นที่มาจนพี่เหน่งได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แต่ก่อนไม่มีการพ่นสีอักษรและตัวเลขไว้ สำนักทรัพย์สินฯ เริ่มจะมาพ่นช่วงหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ในปีที่ผ่านมา มาสอบถามชื่อและรังวัดพื้นที่ของตนเหมือนจะเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล
ถัดจากพี่เหน่ง เรายังได้รับโอกาสให้พูดคุยกับคุณป้าที่ยืนยิ้มแย้มหันมาหาเรา โดยปกติแล้วเราจะสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยจากข้างนอก แต่คุณป้าอนุญาตให้เราเข้าไปพูดคุยกันในบ้าน ทางเข้าประตูมีผ้าม่านที่แหวกออกไปทางซ้ายขวาได้ และเสนอให้เรานั่งลงบนเก้าอี้ไม้สัก ด้านหน้ามีโต๊ะทานข้าวขนาดไม่กว้างมาก มีมุ้งครอบอาหารสีสันสดใส และแมวพันธุ์ไทยนอนถัดอยู่กับคุณป้า
ป้าแอน เข้ามาอยู่ในชุมชนกุหลาบแดงมาเมื่อ 30–40 ปีที่แล้ว เรื่องชื่อของชุมชนคุณป้าให้ความเห็นว่า “สมัยก่อน คนหน้าปาก (รุ่นบุกเบิก) ซอยเขาชื่อว่า คุณกุหลาบ น่าจะเป็นอย่างนั้น” ซึ่งแตกต่างจากพี่เหน่งที่อธิบายว่าเมื่อก่อนแถวชุมชนปลูกดอกกุหลาบสีแดงอยู่เยอะกินพื้นที่กว้าง
ป้าแอนไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร ลูกเปิดร้านอาหารตามสั่งอยู่หน้าปากซอย ก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 เปิดเป็นร้านขายของชำ เพิ่งจะมาทำเป็นร้านอาหารตามสั่งได้ไม่นานหลังโควิด-19 จวบจนถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ในชุมชนกุหลาบแดง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ป้าแอนกล่าวว่า เธอต่อสายไฟพ่วงลากยาวจากบ้านลึกเข้าไปในซอยออกมายังร้านอาหารตรงปากซอย พอเกิดเหตุเพลิงไหม้ก็ทำให้ได้รับความเสียหาย ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าให้การช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์ ป้าแอนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด อย่างไรก็ดี ร้านอาหารตามสั่งของป้าแอนยังพอทำรายได้อยู่
เราถามป้าแอนเรื่องแมวสองตัวที่นอนอยู่ข้าง ๆ กัน “เก็บมาแถวนี่แหละ มันมาคลอด มันน่าสงสาร ป้าไม่ชอบแมวนะ แพ้แมว” คุณป้าตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง ป้าแอนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายการทำหมัน แม้จะเคยไปลงชื่อเพื่อขอรับบริการแล้ว แต่กว่าจะถึงคิวของป้าแอนใช้เวลาเกือบ 5–6 เดือน ซึ่งจะไม่ทันช่วงติดสัตว์เลยตัดสินใจทำหมันเอง
“รู้จักโครงการ One Bangkok ไหมครับ ที่เขาสร้างตึกสูง ๆ” เราถาม
ป้าแอนตอบว่า “รู้จัก เมื่อก่อนช่วงแรก ๆ ที่เขามาลง (ก่อสร้าง) ก็แย่อยู่ เรื่องฝุ่นละออง ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ ดึก ๆ ตีสองตีสามก็ยังทำอยู่ ตึงตัง ๆ ลองถามพี่หนิงดูสิ สะเทือนตอนตอกเสาเข็ม บ้านทรุดเลย แตกหมดเลย แต่ตอนนี้ไม่สะเทือนแล้ว มีแต่ฝุ่น”
ก่อนเราจะกล่าวลาและขอโทษที่รบกวนเวลาของป้าแอน คุณป้ากล่าวด้วยน้ำเสียงชื่นชมปนเอ็นดู “พวกหนูขยันกันเนาะ [หัวเราะ] วันไหนหยุดก็มาหานะ”
เราแวะซื้อขนมและน้ำดื่มจากร้านของชำที่ตั้งอยู่ทางปากซอยก่อนจะออกเดินทางไปยังชุมชนซอยพระเจน ระหว่างทางอากาศค่อนข้างร้อนเพราะเป็นช่วงเที่ยงตรงพอดี เดินผ่านร้านอาหารตามสั่งของลูกป้าแอน และเริ่มย่างเข้าไปยังซอยโปโล ที่ซึ่งมีราชกรีฑาสโมสร โปโลคลับ ตั้งอยู่เด่นตระหง่าน และพบป้ายประกาศของสำนักทรัพย์สินฯ ติดเป็นระยะ ๆ
เรื่องเล่าชวนหัวซอยพระเจน
ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ในที่สุดก็ถึงศาลพ่อปู่ฉัตรแก้วที่ตั้งอยู่เสมือนศาลาว่าการและจุดรวมพลของชุมชนซอยพระเจน เราพักรับประทานอาหารเที่ยงภายในศาลเจ้า ก่อนจะเริ่มลงพื้นที่ต่อ
เราพบคู่สามีภรรยาอารมณ์ดีคู่หนึ่ง ลุงอ้วนและยายหนา คุณลุงเกิดและเติบโตที่ชุมชนซอยพระเจนยุคจอมพลสฤษดิ์ฯ ตั้งแต่สมัยสวนลุมพินียังไม่มีรั้วกั้นล้อมรอบ ช่วงชีวิตวัยรุ่นของลุงอ้วนเคยเป็นบริกรที่อดีตร้านภัตตาคารลอยน้ำใจกลางสระน้ำสวนลุมพินี “กินนารีนาวา” ส่วนใหญ่คนในชุมชน รวมถึงยายหนา มักเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของหรืออาหารในสวน (เมื่อก่อนสามารถเข้าไปขายได้โดยต้องไม่เสียค่าเช่าก่อนจะถูกห้าม ทำให้แยกย้ายไปคนละทิศละทาง หรือบางส่วนก็มาขายของในซอยของชุมชนเป็นตลาดขนาดย่อมจนถึงตอนนี้) ปัจจุบัน ทั้งลุงอ้วนและยายหนาไม่ได้ทำงานแล้ว ใช้ชีวิตอยู่ด้วยเบี้ยคนชราและรายได้ไม่มากของลูกสาวที่ประกอบอาชีพค้าขาย ท่ามกลางอัตราค่าครองชีพแถวลุมพินีที่สูงลิ่ว “ก็นั่งดูโทรทัศน์กันอะไรอย่างนี้ ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีอะไรทำ นั่งคุยกัน (กับพวกเรา) อยู่นี่แหละ [หัวเราะ]”
ในส่วนของการพัฒนาชุมชนซอยพระเจน มีหน่วยงานเข้ามาปรับถนนให้สูงขึ้นเพื่อไม่ให้น้ำท่วมจนไม่สามารถสัญจรได้ มีศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี จากแถวชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เข้ามาตรวจสุขภาพ บางทีก็แวะมาตามถึงบ้าน 2–3 เดือนครั้ง “ก็ยังดี” ลุงอ้วนกล่าว ยายหนาพูดติดขำว่า “เขาไม่มาเราก็ไปหาเขาสิ” แต่นาน ๆ ทีจะเข้ามาฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง ช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีบุคคลใดในครอบครัวเป็นโควิด-19 เลยแม้ภายในชุมชนจะเป็นพื้นที่เสี่ยงของการระบาดก็ตาม
บ้านของลุงอ้วนและยายหนา เป็นลักษณะของการเช่าซื้อสำนักงานทรัพย์สินฯ จากเดิมที่เป็นโครงไม้ก่อนจะเป็นผู้รีโนเวตใหม่เอง ปัจจุบันยังจำต้องชำระให้สำนักงานทรัพย์สินฯ 3,000 บาทต่อเดือน โดยเป็นการต่อสัญญาปีต่อปีในราคาคงที่ แต่ที่น่ากังวลคือ คุณลุงและคุณยาย รวมถึงคนในชุมชน ยังไม่ได้รับจดหมายจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เรียกเก็บเงินชำระหรือให้ต่อสัญญาประจำปีนี้เลย (พ.ศ. 2567) ด้วยพื้นที่ของชุมชนซอยพระเจนที่เป็นจุดมีศักยภาพของเหล่านักลงทุนอสังหาริมทรัพย์หรือพาณิชยกรรม จากคำบอกกล่าวของคนในชุมชนระบุว่า “ขนหัวลุกเลย ประเมินราคาตารางวาละ 3 ล้าน ไม่ใช่ไร่นะ ตารางวา” และ “เหมือนว่าเขา (สำนักงานทรัพย์สินฯ) จะเอาพื้นที่นะ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ เขาก็ปล่อยเราอยู่ไปก่อน”
“ยังไม่มีเงินก้อนเลย จะไป (มีแผน) สำรองที่ไหน”
“คนจนน่ะนะ ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ร้องไปก็ไม่ได้อะไรอีก”
ยายหนาและลุงอ้วนกล่าวตอบเราว่าหากให้ย้ายออกแล้วจะไปอยู่ที่ไหน
เราขอให้คุณลุงคุณยายช่วยโปรโมตอัตลักษณ์ประจำชุมชนซอยพระเจน ลุงอ้วนบอก “ก็สวนลุมฯ นี่แหละ [หัวเราะ] ก็ (ทำงาน) อยู่จนไฟไหม้ มันไหม้ตรงคัตเอาต์ ทีนี้มันดับไม่ทัน ก็ลามหมดเลย แต่ตอนนั้นสนุก ได้ทิปดี รายได้ดี อาทิตย์หนึ่งก็ 2–3 พัน พอไฟไหม้ปั๊ปก็แย่ ออกไปทำบริษัทก้นกองบุหรี่ส่งยาสูบฯ”
เมื่อหมดเวลาพูดคุยที่เราวางไว้ เราถึงถามชื่อของลุงอ้วนและยายหนา
ลุงอ้วนกล่าวติดตลก “หนาเหลือเกินนะ”
“ก็หนาสิ ไม่หนาจะอยู่ในซอยนี้ได้ไง” คุณยายตอบ
เราทยอยเดินออกจากชุมชนซอยพระเจน ตัดออกมาที่ถนนวิทยุ เลียบทางเท้า สังเกตสีและลวดลายประดับรั้วตามที่ลุงอ้วนบอก หันมองไปยังอภิมหาโครงการ One Bangkok ที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าลุมพินี กระจกของตึกสูงสะท้อนแสงแดดอ่อน ๆ ประกายแวววับ พวกเราเข้าไปยังข้างในสวนลุมพินีนั่งล้อมวงเพื่อสรุปสิ่งที่ได้พบเจอกันในวันนี้ ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ
การลงพื้นที่ชุมชนกุหลาบแดง ชุมชนซอยพระเจน รวมถึงชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ทำให้เราได้เห็นมติใหม่ ๆ ที่ไม่เคยฉุกนึกคิดมาก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพัฒนาเมือง เรามักมองถึงการมีคมนาคมที่ดีขึ้น การมีตึกสูงสมัยใหม่ตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมือง แต่เรากลับมองข้าม “ผู้คน” ใน “ชุมชน” ที่มีความรักและความทรงจำที่ไม่อาจสร้างได้ใหม่หรือจินตนาการภาพให้ดูสวยงามได้ถ้าไม่ประสบด้วยตนเอง เป็นความผูกผันที่แยกขาดจากกันไม่ออก ซึ่งต่างล้วนประกอบร่างเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทางสังคมให้เรายังพอได้เห็นจนถึงปัจจุบัน เว้นแต่ว่าจะถูก “ข้างบน” พลัดพรากเสียไปซะก่อน ผู้เขียนจึงบันทึกเรื่องราวและความทรงจำที่ล้ำค่าเหล่านี้ไว้เพื่อไม่ให้มันสูญหายไปจากสังคม รวมถึงเป็นการตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ “องค์ประกอบทั้งสาม” ซึ่งไม่ลงรอยกันนั้นจะสามารถผสานกันเป็นหนึ่ง และนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลังได้หรือไม่
เนื้อหา ภัคภณ ประดิษฐกุล
พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน
ภาพ ภัคภณ ประดิษฐกุล และอภิชญาณ์ ระหงษ์
Leave a Reply