หนี้ครัวเรือนไทย

หนี้ครัวเรือนไทย ระเบิดทางเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลต้องเก็บกู้อย่างเร่งด่วน?

หนี้ครัวเรือนไทยทำไมถึงเป็นเรื่องใหญ่?
หนี้ครัวเรือน คือ เงินที่บุคคลธรรมดากู้ยืมจากสถาบันทางการเงินทั้งในเเละนอกระบบเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจหรือการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่เกิดจากการใช้จ่ายเป็นจำนวนมากกว่ารายได้ที่ได้รับ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา
.
หนี้สินภาคครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 90.6% ของ GDP อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ไม่ได้น่าเป็นห่วงสักเท่าไร เพราะมีอีกหลายประเทศในโลกที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงกว่านี้ เช่น เกาหลีใต้ เเละเเคนาดา
.
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออะไร?
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งของหนี้จำนวนเท่านี้ คือ หนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมที่ไม่ใช่การลงทุน (กู้ยืมแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้) คิดเป็นจำนวนถึง 72% ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งมีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนี้ส่วนนี้กว่าครึ่งคือหนี้จากการซื้อบ้านเเละอีก 1 ใน 3 คือหนี้จากการซื้อรถ ซึ่งต่างจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่หนี้สินส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ
.
ปัญหาที่เกิดตามมาคือการที่ครัวเรือนไม่มีศักยภาพที่จะชำระหนี้ทั้งเงินต้นเเละดอกเบี้ยได้ทันกำหนด ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘หนี้เสีย’ ทั้งหมด 4.4 ล้านบัญชี นำไปสู่การใช้จ่ายที่ฝืดเคืองกระทบต่อเศรษฐกิจภาพใหญ่
.
ปัญหานี้มีทางแก้หรือไม่?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากการใช้จ่ายที่มากมายมหาศาล นำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน กระนั้นก็ตาม กิจกรรมการกู้ก็ควรอยู่ในระดับที่พอดีเเละสามารถควบคุมได้ การเเก้ไขปัญหาตอนนี้ในระยะเร่งด่วนคือการผลักดันให้สถาบันทางการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เเละหาทางออกให้กับทั้งลูกหนี้เรื้อรัง (หนี้ล้นพ้น) เเละลูกหนี้ที่ไม่มีกำลังในการชำระหนี้เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า

.

รัฐบาลใหม่ของเราที่กำลังวางตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆกันอยู่ต้องหาวิธีในการกระตุ้นเศรษฐกิจเเละช่วยเหลือทางการเงินอย่างตรงจุดเพื่อเป็นการเเก้ไขปัญหาอย่างถึงรากถึงโคนอย่างแท้จริง ส่วนการเเก้ไขปัญหาระยะยาวคือการส่งเสริมพฤติกรรมใหม่ให้ประชาชนมีความรับผิดชอบในการใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งสถาบันทางการเงินควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมไป

 

เนื้อหา ภูมิยศ ลาภณรงค์ชัย


พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน


ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *