เมื่อวานนี้ (19 กรกฎาคม 2566) ผลการลงมติ 395 เสียงต่อ 312 เสียง ห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่ 2 ยุติโอกาสการก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยชอบธรรมของแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ควบคู่กับคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจากกรณีถือหุ้นไอทีวี คงสร้างความเดือดดาลและสิ้นหวังให้กับใครหลายๆ คน จนเกิดคำพูดที่กลับมาย้อนคิดว่า “แล้วเราจะเลือกตั้งไปทำไม” ในเมื่อสุดท้ายอำนาจการเลือกอนาคตของประเทศไม่เคยเป็นของประชาชน
.
บรรยากาศของความหวังที่ครั้งหนึ่งเคยแพร่สะพรั่งทั่วไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม บัดนี้ ได้แปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกโกรธแค้น หมดหวังและตายด้านกับความวิปริตของระบอบการเมืองไทย
.
กลับกันเหล่าชนชั้นนำผู้สูบเลือดสูบเนื้อจากประชาชนชาวไทยอยู่ตลอดเวลา คงเฉลิมฉลองอยู่กับความสำเร็จของพวกเขาในการหยามเหยียดอำนาจของประชาชนได้เป็นอีกครั้ง
สำหรับเหล่าชนชั้นนำเหล่านั้นแล้ว ผลเลือกตั้งก็เป็นแค่โจทย์เลขที่พวกเขาต้องแก้ ไม่ใช่เสียงจากประชาชนที่พวกเขาต้องเคารพหรือเห็นพ้องต้องตามแต่อย่างใด
มีหรือที่เครือข่ายผลประโยชน์ชนชั้นนำทั้งกลุ่มทุน ทหาร ศักดินา ตุลาการ องค์กร(ไม่)อิสระ ทั้งหลายจะยอมสละซึ่งอำนาจที่ลงทุนลงแรงฝังรากลึกสู่ทั่วทุกอณูของสังคมไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เพียงเพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศออกมากากบาทพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเครือข่ายผลประโยชน์ของพวกเขา
.
ประชาธิปไตยไม่มีวันได้มาโดยง่าย ชนชั้นนำจะงัดทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจของพวกเขาให้ถึงที่สุด (ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นนำที่ฉลาดจะทำ เพราะการปรับตัวและประนีประนอมย่อมนำไปสู่อำนาจที่มั่นคงและยืนยาวกว่า)
ไม่ว่าจะเลือกตั้งอีกสักกี่ครั้ง ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นมาแสดงอำนาจให้เห็นอย่างแท้จริง พวกเขาก็จะยังหลงระเริง พลางคิดในใจว่า “ประเทศนี้เป็นของพวกกู พวกมึงจะทำอะไรได้วะ” พร้อมงัดกลวิธีสารพัดมาจัดการกับผลเลือกตั้งราวกับมันเป็นแค่ตัวเลขที่พวกเขาบวกลบคูณหารได้ตามใจชอบ
.
สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือความคิดของพวกเขาอาจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศไทยมันเป็นของพวกเขาจริงๆ กี่คำตัดสินที่หักหลักการทางกฎหมาย กี่ล้านบาทที่ต้องเสียไปกับการบริหารประเทศที่ล้มเหลว และอีกกี่ชีวิตกี่ครอบครัวที่ต้องพังทลายลงไป ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อชีวิตพวกเขาเหล่านั้น
.
ในสภาพสังคมที่ในทุกๆ ระบบถูกควบคุมโดยกลุ่มขั้วอำนาจเก่า เราจึงไม่อาจหวังได้ว่าการกากบาทลงบนกระดาษ 2 ใบ แล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ จะโค่นล้มอำนาจของพวกเขาได้
.
อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งยังคงเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่อาจขาดไปได้ ความจริงแล้วอำนาจจากปลายปากกามันคืออาวุธเดียวที่ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรามีในระบบด้วยซ้ำ แต่อาวุธนี้เพียงลำพังไม่มีทางพอ จึงเป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมชนชั้นนำอนุญาตให้เราเลือกตั้ง เพราะคนพวกนั้นพึงรู้อยู่แล้วว่าเลือกตั้งยังไง ถ้าการเคลื่อนไหวนอกสภาไม่แข็งแรง พวกเขาก็ยังรักษาอำนาจได้
.
เราอาจเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกสิ้นหวังกับความวิปริตทางการเมืองในช่วงนี้ แต่ความสิ้นหวังไม่เคยเป็นทางออก ในทางกลับกันมันคือสิ่งที่พวกชนชั้นนำต้องการให้เราเป็น เขาอยากให้เราสิ้นหวัง หมดหวัง ตายด้านกับการเมืองไทย แล้วเสนอสามทางเลือกให้กับเรา หนึ่งคืออยู่ข้างเขาแล้วเราจะได้ร่วมสูบเลือดสูบเนื้อประเทศนี้ไปด้วยกัน สองคือสู้กับเขาแล้วเราจะถูกโจมตีจากกลไกรัฐจนหมดอนาคต และสามคืออยู่นิ่งๆ แล้วชีวิตเราจะได้อยู่ไปวันๆ รอเศษขนมปังจากชนชั้นนำเหล่านั้น
.
แต่อย่างน้อย ไม่มีวินาทีใดในประวัติศาสตร์ไทยอีกแล้วที่อำนาจเถื่อนของเหล่าอภิสิทธิ์ชนถูกปลดเปลื้องลงได้มากเท่านี้ ขยะโสมมที่พวกเขาทิ้งไว้ใต้พรมได้ถูกเปิดโปงให้ทุกคนเห็นอย่างชัดแจ้ง และจะไม่มีใครแสร้งทำเป็นไม่เห็นมันได้อีกแล้ว
ไม่ว่าอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร ผู้เขียนก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการเห็นปัญหาที่แท้จริงคือขั้นแรกของการแก้ปัญหาได้อย่างแน่แท้ ถึงหนทางสู่ประชาธิปไตยจะโรยไปด้วยขวากหนาม แต่ตราบใดที่เรายังสู้ เราก็ยังอยู่บนเส้นทางสู่ประชาธิปไตย
เนื้อหา พีรพัทธ์ อนันควานิช
พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน
ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์
Leave a Reply