ผู้คน – ชุมชน – ข้างบน องค์ประกอบที่ไม่ลงรอยกัน ตอน 1
*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสิงห์ดำพาไปเจอ “ปทุมวันฟิลด์ทริป” โดยฝ่ายพัฒนาสังคม สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏในบทความเป็นความเห็นตามความเข้าใจของผู้ให้สัมภาษณ์สลับกับการสังเกตวิเคราะห์ของผู้เขียน
การลงพื้นที่ไปยังชุมชนนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกในชีวิตของเรา สตาฟนัดหมายผู้เข้าร่วมที่หอนาฬิกาสวนลุมพินีตั้งแต่ 9 โมงเช้า แดดยังไม่แรงมาก มีลมแผ่วๆ พัดใบไม้ปลิวหล่นลงมาเป็นระยะ เรานั่งเป็นกลุ่มตามสีต่างๆ ที่ได้แบ่งเอาไว้ พร้อมรับฟังการอธิบายกำหนดการ โดยจะเริ่มจากการเยือนชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ชุมชนกุหลาบแดง และชุมชนซอยพระเจนตามลำดับ ในชุดบทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยชุมชนพัฒนาบ่อนไก่จะจัดอยู่ในบทความตอนแรกนี้ ส่วนชุมชนกุหลาบแดง และชุมชนซอยพระเจน จะอยู่ในตอนที่ 2
เมื่อเราได้ทราบกำหนดการและข้อพึงปฏิบัติเมื่อลงพื้นที่แล้ว เราจึงเริ่มเดินเท้าราว 1 กิโลเมตร ตามทางคนเดินริมถนนพระราม 4 ไป เนื่องด้วยการก่อสร้างขุดลอกท่อบนทางเท้าของอภิมหาโครงการ One Bangkok ทำให้ต้องใช้ทางเบี่ยงที่โครงการวางไว้เดินต่อไป อากาศค่อย ๆ ร้อนขึ้นจากเดิม เราเริ่มกางร่มออกมากันแดด สลับจิบน้ำไปเรื่อย ๆ จนใกล้เข้าสู่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เราสวมหน้ากากอนามัยตามคำแนะนำของสตาฟ
และแล้ว เราก็ถึงศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนของชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ที่ซึ่งเราได้รับการต้อนรับจากพี่วรวิทย์ (วรวิทย์ มาระโย) ประธานชุมชน โดยได้กล่าวถึงข้อมูลของชุมชนอย่างคร่าว ๆ ว่ามีพื้นที่ประมาณ 13 ไร่ มีประชากรราว 1,300 คน หนึ่งในลักษณะเด่นของชุมชนคือเป็น “ชุมชน 24 ชั่วโมง” กล่าวคือผู้อยู่อาศัยเข้าออกตลอดเวลาจากการทำงานในกะเช้าและกะดึกสลับกันไป
จากนั้นพี่วรวิทย์แจ้งผ่านเสียงตามสายว่ามีคณะบุคคลากรจากจุฬาฯ มาเยี่ยมชุมชนเพื่อทำการศึกษา ขอให้ต้อนรับอย่างเป็นมิตร เขากล่าวกับพวกเราว่า เป็นการแจ้งตามปกติเมื่อมีผู้มาเยือนชุมชน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยทราบว่าไม่ได้มาทำอันตรายหรือต้องทำให้เดือดร้อน
เราเห็นแมวลายสลิดสลับปนกับแมวส้มวิ่งแล่นไปมาอยู่ให้เห็นจนเข้าใจว่านี่เป็นถิ่นที่อยู่ของมัน แมวกลุ่มหนึ่งวิ่งสวนทางมาหาเราก่อนกระโจนเข้าไปสุดซอยคล้ายกับการเชื้อเชิญและอนุญาตให้เราเข้าไปสำรวจ
ป้านุ้ยเสนอให้เรานั่งลงบนเก้าอี้พลาสติกทรงเตี้ยที่ใช้ซักผ้าก่อนจะเริ่มพูดคุยกัน คุณป้าอาศัยอยู่ในชุมชนบ่อนไก่มาร่วม 20 ปี เดิมทำสวนอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านที่สำนักงานซึ่งสามารถเดินเท้าจากชุมชนได้ประมาณ 1 ป้ายรถเมล์ ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เว้นเสาร์–อาทิตย์ รายได้พอประทังชีวิตประจำวัน
ก่อนหน้าที่เราจะพูดคุยกับป้านุ้ย เราได้มีโอกาสรับฟังปัญหาของวัยรุ่นหญิงอายุราว 19 ปี ในประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งเสพติดในชุมชน เธอกล่าวกับเราว่ายาเสพติดมีทั่วไปหมด และเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดช่วงหลังปลดล็อกกัญชา ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาคอยกำกับดูแล หรือถึงมีเข้ามา หากผู้ถูกจับกับเจ้าหน้าที่รู้จักกันก็ปล่อยอยู่ดี (เป็นความเห็นของผู้อยู่อาศัยในชุมชน) ขณะที่ป้านุ้ยบอกกับเราว่าผู้เสพส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นในชุมชน มักเป็นพวกกัญชาและยาบ้า
เราถามย้อนถึงช่วงการแพร่ระบาดทั่วของโรคโควิด-19 ในช่วง พ.ศ. 2562 ว่าเป็นอย่างไร ป้านุ้ยกล่าวว่า มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือเรื่องข้าวปลาอาหารและเครื่องยังชีพเบื้องต้นเป็นประจำทุกวัน ระหว่างที่เรากำลังสอบถามตามคำถามที่เตรียมไว้ล่วงหน้า เราสังเกตเห็นผ้าฟางอยู่เหนือ “บ้าน” ขนาดไม่กว้างมากของคุณป้า
“ช่วงหน้าฝนต้องรับมือหรือเตรียมอะไรเป็นพิเศษไหมครับ” เราถาม
คุณป้าตอบว่า “นี่ไง รอง (ผ้าฟาง) ไว้เลย มันสาดแน่นอน รองให้น้ำเทลงมา (คุณป้าวางถังไว้ตรงสุดห้องเพื่อรองรับน้ำที่ไหลลงมาเป็นสโลป) เราทำของเราเอง ช่วงหน้าฝนจะลำบากหลายเดือน ต้องวิดน้ำที ๆ ทุกวัน เราชินแล้วล่ะมั้ง อยู่มาหลายปี”
เช่นเดียวกันกับผู้อยู่อาศัยคนอื่น ๆ ในชุมชนบ่อนไก่ที่มักมีแมวอยู่ภายในที่พัก ตลอดเส้นทางจากถนนใหญ่ของชุมชนไปจนถึงสุดซอย มีแมว 2 ตัวอยู่ภายในห้องของป้านุ้ย ทราบว่าได้ฉีดยาแล้วแต่ยังไม่ได้ทำหมัน ตอนแรกเก็บมาเลี้ยงจากแถว ๆ นี้เพียงตัวเดียว ก่อนจะคลอดลูกเป็นตัวที่ 2 แม้จะไม่มีรายได้มากนักจากการประกอบอาชีพทำความสะอาดสำนักงานขนาดใหญ่โต คุณป้าและสามีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการฉีดยาเอง แสดงพอให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนบ่อนไก่กับแมวที่แยกออกจากกันไม่ขาด ทั้งนี้ คุณป้าบอกกับเราว่ามีหน่วยงานเข้าฉีดยาให้ปีละครั้ง
เรากล่าวขอบคุณป้านุ้ยและเดินทางกลับไปยังศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากพี่วรวิทย์ในฐานะประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่
หนึ่งในผู้เข้าร่วมกล่าวถามว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านแล้ว พบว่าไม่มีการซ้อมหนีไฟ พี่วรวิทย์ตอบว่า จะให้ความสำคัญกับการ เตรียมความพร้อมในลักษณะป้องกันภัยที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ เช่น การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างการเสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้ สาเหตุของเพลิงไหม้ในชุมชนส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งไฟจะวิ่งตามสายไฟที่ได้โยงไว้เป็นทอด ๆ ทั่วทิศทาง ประกอบกับอีกทั้งที่พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นไม้ซึ่งทำให้ไฟลุกลามได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังได้เชิญทางสถานีดับเพลิงบ่อนไก่เข้าสาธิตวิธีการดับเพลิง (ภายในชุมชนมักมีถังดับเพลิงของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ) มากกว่ากับซ้อมอพยพวิ่งหนีไฟ เว้นแต่กรณีซ้อมอพยพย้ายเด็กเล็กในชุมชนว่ามีเส้นทางเป็นอย่างไร
เราสอบถามเรื่องประเด็นยาเสพติด พี่วรวิทย์กล่าวตอบว่า “ทุกชุมชนที่เป็นชุมชนแออัดมักถูกมองว่าเป็นแหล่งของยาเสพติด” โดยขยายว่าส่วนใหญ่ผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยมักเป็นคนในชุมชนเสียเอง สำหรับชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ได้มีการทำความตกลงร่วมกัน (MOU) กับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี สำนักงานเขตปทุมวัน และศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี
เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งเสพติดผ่านโครงการชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติด ซึ่งเป็นการ “X-Ray ทุกครัวเรือน” ว่าบ้านหลังไหนมีความเสี่ยงที่จะยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเปิดโอกาสให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่ไม่สมัครใจ มีพฤติการณ์หลบหนี ก็จะถูกจับดำเนินคดีต่อไป รวมถึงยังมีการตั้งตำรวจชุมชน ซึ่งเป็นอาสาสมัครคอยสอดส่องดูแล ทำให้ปัญหาสิ่งเสพติดลดน้อยลง แต่เมื่อมีการปลดล็อกกัญชา ทำให้สิ่งเสพติดในชุมชนกลับกลายมาเป็นปัญหาอีกครั้ง พี่วรวิทย์ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะเข้าไปควบคุมโดยตรง เพราะสิ่งพวกนี้เป็นของถูกกฎหมายไปแล้ว
ขณะที่เรื่องแมว สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตปทุมวัน ได้เข้ามาดำเนินการทำหมัน 2–3 เดือนครั้ง และบริการฉีดวัคซีนโดยศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี พี่วรวิทย์กล่าวว่าแมวจรจัดเป็นสิ่งที่ยากจะจัดการได้ภายใต้การดูแลของเขา จึงต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกเพื่อเข้ามาสำรวจดูแลเพิ่มเติม บางครั้งบางคราวก็มีแมวจรจัดถูกจับออกไปบ้าง
“มีปัญหาที่ควรจะแก้ได้อย่างเร่งด่วนแต่แก้ไม่ได้อย่างเร่งด่วน” พี่วรวิทย์ตอบคำถามว่ามีเรื่องอะไรที่อยากแก้เป็นให้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ ที่อยากพัฒนาให้ได้เทียบเท่ากับคุ้ม 3 (“คุ้ม” เป็นคำเรียกการแบ่งพื้นที่ของชุมชน) ซึ่งเป็นโครงการบ้านมั่นคงที่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพรียบพร้อมแล้ว ปัญหาเรื่องสุขภาพอันเนื่องมาจากมลพิษฝุ่นควันก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่อยากแก้ไขให้ได้โดยเร็ว ด้วยแหล่งที่ตั้งของชุมชนที่รายล้อมไปด้วยถนนรถวิ่ง ทางด่วน และโครงการก่อสร้าง One Bangkok จึงเป็นลักษณะการป้องกันมากกว่า
พี่วรวิทย์พูดถึงเรื่องเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นผลให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 90 หลังคาเรือน โดยผู้อยู่อาศัยที่บ้านถูกเพลิงไหม้มีการกั้นสังกะสีล้อมไว้แล้ว (เป็นเครื่องแสดงว่าบ้านหลังนั้นเป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อเตรียมรื้อถอน) นั้น ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงเพื่อขอเช่าที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่ด้วยพื้นที่ของชุมชนมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งการค้าขนาดใหญ่ต่อเนื่องจากโครงการ One Bangkok จึงไม่ได้รับอนุญาต และได้รับการเสนอเป็นบริเวณซอยโปโล 7 ใกล้สะพานเขียว โดยขอกู้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อรับการช่วยเหลือในการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมดตั้งแต่ต้น มีหลักเกณฑ์คือต้องมีเงินสมทบร้อยละ 10 ของราคาค่าก่อสร้าง ผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบมารวมตัวกันเพื่อระดมเงินก่อสร้าง ทั้งนี้ ปัจจุบันการก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะโครงการพัฒนาบริเวณซอยโปโล 7 ซึ่งจะเป็นจุดหมายใหม่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบเพลิงไหม้นั้น ไม่ได้จะสร้างเป็นแฟลต แต่เป็นคอนโดมิเนียมที่มีสวนและร้านค้าต่าง ๆ ทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้บางส่วนต้องออกไปเช่าอยู่ที่อื่นในราคา 6,000–7,000 บาทต่อเดือน แต่เงินได้ของผู้อยู่อาศัยนั้นกลับสวนทางกัน
จากที่เราได้รับฟังและเข้าใจสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัย (ไม่อาจเรียกว่าเข้าใจได้ด้วยซ้ำเพราะเข้าไปคลุกกลิ่นได้ไม่ถึงวัน) มีปัญหามากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือพยายามแก้ไขแล้วแต่ยังไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยเงื่อนไขทั้งทางกายภาพที่ชุมชนเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์รวมการค้าขนาดใหญ่ของเหล่านายทุน มีโอกาสสูงที่จะถูกขับให้ออกจากพื้นที่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ทั้ง 4 ทิศของชุมชนอยู่ติดถนนใหญ่ ทางด่วน และโครงการก่อสร้าง ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวจากฝุ่นควันมลพิษ รวมถึงเงื่อนไขทางสังคมที่ชุมชนแออัดถูกมองว่าเป็น “ส่วนเกิน” ของสังคม และควรสละผลประโยชน์ส่วนตนให้แก่ประโยชน์ส่วนรวม นั่นคือ การที่คนกลุ่มน้อยยอมออกจากพื้นที่ไปเพื่อนำไปพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านลุมพินีซึ่งจะส่งผลดีต่อคนหมู่มาก
คำถามพ่วงท้ายคือ หากมองตามแนวอรรถประโยชน์นิยมคลาสสิกที่เชื่อในผลประโยชน์สูงสุดของคนหมู่มากโดยไม่สนใจระหว่างทางว่าจะเป็นเช่นไรแล้ว อะไรคือผลประโยชน์สูงสุด (the greatest good) และอะไรคือจำนวนที่มากที่สุด (the greatest number) ที่ว่าเพื่อคนหมู่มากที่สุด และผลประโยชน์สูงสุดนั้น คือใคร และของใครกันแน่ จากที่ได้พูดคุยกับผู้อยู่อาศัยมา ส่วนมากก็ยอมรับว่าตนเป็น “ผู้บุกรุก” แต่เหตุไฉนเล่าจะไล่ให้เขาไปอยู่ที่อื่นกันโดยไม่มีหมอนรองรับพวกเขาเลย จะดีกว่าหรือไม่หากเราสามารถบรรลุจุดตรงกลางที่ประนอมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ ร่วมพัฒนาเมืองนี้ไปด้วยกัน โดยไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังสโลแกนของโครงการ One Bangkok ที่ประกาศว่าเป็น “เมืองที่ยึดเอา ‘หัวใจ’ ของผู้คนเป็นศูนย์กลาง”
เรากล่าวขอบคุณพี่วรวิทย์ และโบกมือลาชุมชนพัฒนาบ่อนไก่และแมวลายสลิด ก่อนจะเดินทางสู่ชุมชนกุหลาบแดง และชุมชนซอยพระเจน ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป
เรื่อง ภัคภณ ประดิษฐกุล
พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน
ภาพ ภัคภณ ประดิษฐกุล และอภิชญาณ์ ระหงษ์
Leave a Reply