ในทุกปี หลากหลายองค์กรต่างรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เองก็ได้ให้ความสำคัญกับวันดังกล่าวอย่างมาก ผ่านทั้งการจัดงานเสวนาที่เชิญบุคคลสำคัญทางการเมืองจากต่างประเทศจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก กระทั่งการทุ่มทุนบูรณะตึกกิจกรรมนิสิต
การจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์โดยสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2559 ในครั้งนั้นมีการเชิญโจชัว หว่อง นักกิจกรรมชาวฮ่องกง มากล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การเมืองของคนรุ่นใหม่”1 แต่โจชัว หว่อง กลับถูกรัฐบาลไทยกักตัวที่ท่าอากาศยาน ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ เหตุการณ์นั้นทำให้เกิดกระแสข่าวไปทั่วโลก2 และทำให้โจชัว หว่อง กลายเป็นที่สนใจของสังคมไทยในวงกว้าง
4 ปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563 สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ได้จัดพิธีเปิดห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล และห้องอเนกประสงค์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน หลังจากการบูรณะตึกกิจกรรมนิสิต ระยะที่ 1
การบูรณะตึกกิจกรรมนิสิตมีที่มาจากการเวนคืนพื้นที่โรงอาหารเก่า คณะรัฐศาสตร์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมทีเป็นพื้นที่ของสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ที่คณะรัฐศาสตร์ได้จัดสรรให้หลังการย้ายโรงอาหารไปยังอาคารจอดรถ 3 ในปัจจุบัน3 แต่ด้วยปัญหาการขาดการดูแล โรงอาหารเก่าที่ชมรมต่าง ๆ เก็บของไว้อย่างไม่เป็นระบบจึงได้ถูกเวนคืนพื้นที่ไปเป็นพื้นที่สีเขียวในปีการศึกษา 2562
ตึกกิจกรรมนิสิตในขณะนั้นก็มีปัญหาด้านสุขอนามัยเช่นกัน จึงเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งถึงโอกาสที่จะถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเวนคืนพื้นที่ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์จึงมีมติในการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 / 2563 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการบูรณะตึกสโมสรนิสิตขึ้น4
ในการวางแผนนั้น ได้มีการขอให้นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นผู้วาดผังอาคาร และขอให้สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารจามจุรี สแควร์ เป็นผู้ออกแบบตึกกิจกรรมนิสิต5 ในตอนแรกต้องใช้งบประมาณถึง 1,423,260 บาท แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องตัดทอนค่าใช้จ่ายในการบูรณะระยะที่หนึ่งบางส่วน เช่น เครื่องฉายภาพ จอติดผนังขนาด 200 นิ้ว ชุดเครื่องเสียง แอมป์ ไมค์ลอย ลำโพง ในห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล และห้องอเนกประสงค์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ตกแต่งผนังและเพดาน และระบบเสียง แสง นิทรรศการ บริเวณโถงนิทรรศการและโถงเกียรติยศนิสิตเก่า เครื่องปรับอากาศขนาด 32,000 BTU บริเวณโถงนิทรรศการ โซฟาพักผ่อนจำนวน 6 ชุดรวมกัน ในห้องกิจกรรม (Common Room) ทั้ง 3 ห้อง โทรทัศน์ขนาด 50 นิ้ว ในห้องกิจกรรม 1 (Common Room 1) และห้องกิจกรรม 3 (Common Room 3) ล็อกเกอร์จำนวน 24 ชุด (ชุดละ 4 ล็อกเกอร์) เป็นต้น สุทธิแล้วเหลือเพียง 350,560 บาท6
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 / 2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ได้มีมติอนุมัติโครงการบูรณะอาคารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์7 โดยการบูรณะระยะนี้ตามที่วางแผนไว้ ประกอบด้วย8
- กำจัดหนูและทำความสะอาด
- ปูเสื่อน้ำมันใหม่ในบริเวณห้องทำงานของสโมสรนิสิต บริเวณโถงตู้ล็อกเกอร์ บริเวณห้องประชุมของสโมสรนิสิต ห้องประชุม 2 ห้องชมรมดนตรีสากล9 อดีตห้องชมรมดนตรีไทย
- ทำฝ้าและทาสีผนังใหม่ในห้องประชุมของสโมสรนิสิต และทุบฝ้ากันระหว่างห้องประชุม 2 และอดีตห้องชมรมดนตรีไทย เพื่อขยายห้อง10
- จัดหาเครื่องปรับอากาศใหม่แทนที่เครื่องเดิมในห้องชมรมดนตรีสากลและห้องสโมสรนิสิตที่ชำรุด พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องปรับอากาศใหม่ในห้องประชุม
- ซ่อมแซมหลังคา พื้น และฝ้าห้องครัว ให้ไม่มีเศษใบไม้ กิ่งไม้ และสัตว์รบกวนภายในห้อง เพื่อให้กลับมาใช้งานได้
- จัดหาประตูใหม่แทนประตูห้องทำงานของสโมสรนิสิตบานเดิมที่ชำรุดเพื่อรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์
แต่เมื่อลงมือจริงแล้วย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำของฝ่ายต่าง ๆ โดยตำแหน่งที่ทำการสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ถูกย้ายเข้าไปแทนที่ห้องกิจกรรม 1 (Common Room 1) ขณะที่ห้องกิจกรรม 2 (Common Room 2) ถูกย้ายเข้าไปแทนที่ห้องเก็บของ ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยห้องเก็บของสำหรับชมรม (ห้องล็อกเกอร์) ห้องชมรมดนตรีได้ถูกย้ายออกไปให้ใช้ห้องของคณะ ส่วนห้องกิจกรรม (Common Room) ทั้งหมด รวมถึงโถงนิทรรศการขนาด 28 ตร.ม. โถงเกียรติยศนิสิตเก่าขนาด 12 ตร.ม. และทางเดินขนาด 4 ตร.ม. ได้ถูกจัดสรรพื้นที่รวมเข้าด้วยกันเป็นโถงกลางตึก (ภาพประกอบอาจไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง)
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการบูรณะตึกกิจกรรมนิสิตครั้งนี้มีที่มาจากหลากหลายแหล่งด้วยกัน โดยของบสนับสนุนจากกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนากิจการนิสิต (คณะ) เพียง 20,000 บาท11 เพื่อให้กระบวนการอนุมัติเป็นไปโดยง่าย และไม่ต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ12 นอกจากนั้นเป็นงบประมาณสนับสนุนที่สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์รวบรวมจากผู้สนับสนุนจำนวนมาก โดยมีกำลังสนับสนุนที่สำคัญจากสิงห์ดำ รุ่น 24 ซึ่งมีคุณประชา เตรัตน์ อดีตหัวหน้าคณะรัฐศาสตร์ เป็นผู้ประสานงานในการรวบรวมงบประมาณ และประสานงานบริษัทก่อสร้าง
ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดพิธีเปิดห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล และห้องอเนกประสงค์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เป็นประธานในพิธี และมีวิดีโอแสดงความยินดีจาก ศ.กิตติคุณ ธงชัย วินิจจะกูล มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “6 ตุลา และอนาคตของสังคมไทย” โดย คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, รศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ และ รศ. ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ในวันดังกล่าวได้มีสิงห์ดำ รุ่น 28 (รุ่นเดียวกับวิชิตชัย อมรกุล) หลายคนมาร่วมงาน
ในห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล ได้มีจิตรกรรมฝาผนังภาพหนึ่งอยู่ เป็นภาพของประชาคมจุฬาฯ ที่เป็นวีรชนในการเมืองไทย สร้างสรรค์โดยสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบุคคลในภาพเรียงจากซ้ายไปขวา ได้แก่
- จิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ ผู้ถูกโยนบกจากการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัยให้มีเนื้อหาที่วิพากษ์สังคม13 และถูกมหาวิทยาลัยพักการศึกษาเป็นเวลา 12 เดือน14
- รัตนา สกุลไทย นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ ผู้ลาออกไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ต. บ้านส้อง จ. สุราษฎร์ธานี และถูกสังหารเนื่องจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสายลับของรัฐบาล15
- สมเด็จ วิรุฬหผล นิสิตเก่าคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ถูกยิงขณะเดินทางกลับไปร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เนื่องจากเป็นห่วงเพื่อน หลังจากทราบข่าวสถานการณ์ความรุนแรง16
- วิชิตชัย อมรกุล นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปี 2 ผู้ถูกสังหารในการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และถูกนำร่างไปแขวนคอ “เตะ ถีบ ฟาดด้วยเก้าอี้” อีกทั้งยังโดน “ตอกอก” โดยมวลชนฝ่ายขวา17
อนึ่ง นอกจากสี่ท่านนี้แล้ว ยังคงมีวีรชนในการเมืองไทยที่เป็นประชาคมจุฬาฯ อีก เช่น โกมล คีมทอง อดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์, ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
หลังการบูรณะตึกกิจกรรมนิสิตในระยะที่หนึ่งได้ผ่านพ้นไป ได้มีการบูรณะในระยะที่สองเกิดขึ้นในช่วงประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 256318 ด้วยการขอความอนุเคราะห์งบประมาณจากคณะ โดยการปรับปรุงระยะนี้ประกอบด้วย การทาสีประตูลูกกรงเหล็กด้านหน้าตึกกิจกรรมนิสิต ปรับปรุงห้องน้ำตึกกิจกรรมนิสิต และทาสีชายคาด้านนอกตึกกิจกรรมนิสิต
เวลาล่วงเลยมาอีกเกือบ 1 ปี ได้มีการบูรณะตึกกิจกรรมนิสิตระยะต่อมาในระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 256519 ด้วยงบประมาณสำรองจากปีการศึกษา 2563 จำนวน 100,000 บาท และงบประมาณสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งจากสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.น.ร.) การบูรณะในระยะนี้ประกอบด้วย ปรับพื้นบริเวณโถงให้เสมอกันทั้งหมด เปลี่ยนพื้นกระเบื้องเป็นพื้นปูน เปลี่ยนหลังคาและเสริมคานใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่ว เปลี่ยนสีผนังเป็นสีเทาเพื่อความสะอาด ทุบผนังกั้นระหว่างห้องอเนกประสงค์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และห้องล็อกเกอร์ เพื่อจัดสรรประโยชน์อีกประการให้เป็น Co-working Space 24 ชั่วโมง เปลี่ยนลานจอดรถยนต์เก่าให้เป็นสนามหญ้าและบ่อน้ำ สร้างศาลาประชาราษฎร์ สร้างห้องเก็บของด้านหลังตึก สร้างห้องซ้อมดนตรีในลักษณะตู้คอนเทนเนอร์นอกตึก20 เรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบของคณะไปพร้อม ๆ กับการปรับปรุงตึกกิจกรรมนิสิต
เมื่อเวลาล่วงเข้าสู่ปีการศึกษา 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กลับมาเปิดทำการเรียนการสอน ณ สถานที่ตั้ง (On-site) หลังวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ได้เบาบางลง ตึกกิจกรรมนิสิตจึงได้มีการเข้ามาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ แต่เนื่องด้วยการขาดการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัดของสมาชิกสโมสรนิสิตฯ เช่น ไม่นำแก้วน้ำและขวดน้ำที่นำเข้ามาไปทิ้งในถุงขยะที่จัดเตรียมไว้ ไม่จัดเก็บโต๊ะและเก้าอี้ให้เรียบร้อยดังเดิมเมื่อใช้งานเสร็จ เป็นต้น ทำให้สภาพพื้นที่ตึกกิจกรรมนิสิตได้สูญเสียความน่าใช้งานอย่างรวดเร็ว สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์จึงได้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับ ได้แก่ ตักเตือนด้วยวาจาในการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ออกข้อตกลงการใช้งาน21 รวมถึงจัดเวรทำความสะอาด แต่เหนือสิ่งอื่นใด การดูแลรักษาตึกกิจกรรมนิสิตย่อมต้องอาศัยสำนึกร่วมกันของสมาชิกสโมสรนิสิต
การบูรณะตึกกิจกรรมนิสิตที่ได้ดำเนินการมาในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2563 – 2565 แม้จะสมบูรณ์แล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเสร็จสมบูรณ์จนไม่อาจบูรณะไปมากกว่านี้แล้ว การดำเนินการที่คั่งค้างจากระยะที่หนึ่งในปีการศึกษา 2563 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณก็ถูกสานต่อส่วนหนึ่งในช่วงปีการศึกษา 2564 แต่ก็มิได้หมายความว่าได้สานต่อจนเสร็จสิ้นแล้ว ปัจจุบัน คณะรัฐศาสตร์กำลังปรับปรุงอาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ (ตึก 1) และอาคารวรภักดิ์พิบูลย์ (ตึก 2) ให้สามารถใช้เป็นพื้นที่ทำการเรียนการสอนของรายวิชาบังคับคณะที่นิสิตชั้นปี 1-2 จะต้องเรียน ภายในเดือน พ.ค. 256922 ศูนย์กลางของคณะจึงจะไม่กระจุกตัวอยู่ที่อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี) อีกต่อไป ตึกกิจกรรมนิสิตจึงยังคงมีความเป็นไปได้มากมายที่จะพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ที่เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Co-working Space) ของนิสิตในคณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ในรุ่นต่อ ๆ มาในการที่จะมีความคิดริเริ่มและสรรสร้างบูรณะตึกกิจกรรมนิสิตแห่งนี้ให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประสิทธิผลต่อตัวนิสิตเองได้มากน้อยเพียงใด
- ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 6 ตุลาฯ ชาวจุฬาฯมองอนาคต, “ขอต้อนรับแขกรับเชิญพิเศษของงานปาฐกถา 6 ตุลาฯ ประจำปีนี้ ในหัวข้อ ‘การเมืองของคนรุ่นใหม่’,” เฟซบุ๊ก, 16 กันยายน 2559, https://fb.watch/v21c9xMrvL/?.
- “Hong Kong activist Joshua Wong barred from entering Thailand,” BBC, October 5, 2016, https://www.bbc.com/news/world-asia-china-37558908.
- มีชื่อเรียกอย่างลำลองโดยทั่วไปในปัจจุบันว่า “โรงอาหารรัฐศาสตร์”
- รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 / 2563 วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563 การประชุมผ่านระบบ Video Conference
- เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, การศึกษาของนิสิตเลว: 5 ปีในรั้วจุฬาฯ (กรุงเทพฯ: สำนักนิสิตสามย่าน, 2565), 356.
- หนังสืองบประมาณโครงการบูรณะอาคารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์
- รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 / 2563 วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุมอภิชาติ สีมี และการประชุมผ่านระบบ Video Conference
- หนังสือโครงการบูรณะอาคารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์
- ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโถงภราดรภาพ
- ห้องอเนกประสงค์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ในปัจจุบัน
- หนังสืองบประมาณโครงการบูรณะอาคารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์
- เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, การศึกษาของนิสิตเลว: 5 ปีในรั้วจุฬาฯ (กรุงเทพฯ: สำนักนิสิตสามย่าน, 2565), 356.
- เป็นคำที่เทียบเคียงกับคำว่า “โยนน้ำ” ซึ่งเป็นการโยนลงสระน้ำหรือคลองเพื่อเป็นการลงโทษ แต่เปลี่ยนเป็นโยนจากเวทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงพื้น
- “จิตร ภูมิศักดิ์ กับกรณีโยนบก ‘28 ตุลาคม 2496’,” ศิลปวัฒนธรรม, 28 ตุลาคม 2565, https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_8702.
- “22 กุมภาฯ ‘โกมล คีมทอง’ บัณฑิตจุฬาฯ อุทิศชีวิตเป็นครู ถูกยิงเสียชีวิต,” มติชนสุดสัปดาห์, 22 กุมภาพันธ์ 2560, https://www.matichonweekly.com/column/article_25644.
- เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์, “‘สมเด็จ วิรุฬหผล’ วีรชน 14 ตุลา ชาวจุฬาฯ,” The101.World, 13 ตุลาคม 2564, https://www.the101.world/somdej-virunhaphol/.
- พวงทอง ภวัครพันธุ์, “ใครคือชายที่ถูก ‘ตอกอก’ ในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519” บันทึก 6 ตุลา, ม.ป.ป., https://doct6.com/archives/15619.
- หนังสือสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ที่ สนร. 21-01-003 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2563
- รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 8 / 2564 วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 การประชุมผ่านระบบ Video Conference
- ต่อมาร้านถ่ายเอกสารได้ย้ายออกไป ทำให้มีการแบ่งพื้นที่จัดทำเป็นห้องดนตรีสากลและห้องอเนกประสงค์ (ใช้เก็บของ)
- ประกาศสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อตกลงการใช้งานและดูแลรักษาตึกกิจกรรมนิสิต ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
- ปกรณ์ ศิริประกอบ, “สารคณบดี,” ใน คู่มือสิงห์ดำ 77, บรรณาธิการโดย ธนกาญจน์ ชารีรักษ์, อัฐณัฏฐ์ เต็มสุวรรณพานิช, และภีม คติวานิช (ม.ป.ท., 2567), 3.
Leave a Reply