วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (21 กันยายน 2562) สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีจัดกิจกรรม Back to School โดยผู้เขียนนามปากกา “เสียงเล็กๆ ที่ไม่ดัง” ได้เขียนบทความชื่อ “โลกจะแตก น้ำจะท่วมโลก แต่สโมฯ รัฐศาสตร์ยังจัดกิจกรรมไร้อนาคต” ผ่านเว็บไซต์ “ประชาไท”1
กิจกรรม Back to School นี้ได้จัดขึ้นตามมติคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ สมัยสามัญ ครั้งที่ 4 / 2562 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 25622 ในฐานะส่วนหนึ่งของกิจกรรมการแข่งขันสร้างสัมพันธ์จตุรภาค ชั้นปี 1
ที่มาของกิจกรรมนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่มีกิจกรรมเวทีเสนอความเห็นนิสิต ครั้งที่ 1 ณ โถงชั้น G อาคารเกษม อุทยานิน (ตึก 3)3 โดยในกิจกรรมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมเสนอแนะถึงปัญหาการกระจายความหลากหลายของกิจกรรมและผู้จัดกิจกรรม กรรมการบริหารสโมสรนิสิตฯในขณะนั้นได้ชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการสร้างความประทับใจแก่นิสิตชั้นปี 1 เพื่อดึงดูดให้มีผู้จัดกิจกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นในคณะ
เพื่อแก้ไขปัญหาตามที่นิสิตได้เสนอแนะไว้ด้วยวิธีการสร้างความประทับใจแก่นิสิตชั้นปี 1 คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์จึงได้ปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ในการประชุมฯ สมัยสามัญ ครั้งที่ 4 / 2562 และเห็นว่าควรจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตชั้นปี 1 โดยจัดกิจกรรมการแข่งขันสร้างสัมพันธ์จตุรภาค ชั้นปี 1 ในวันที่ 19 กันยายน 2562 โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแต่งกายด้วยชุดนักเรียน เคารพธงสิงห์ดำ อ่านคำประกาศศักดิ์ แข่งขันกีฬา นันทนาการ และจับสลากบัดดี้ เป็นต้น
หลังกิจกรรมดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 21 กันยายน 2562 ได้มีบทความจากคุณ “เสียงเล็กๆ ที่ไม่ดัง” ถูกเผยแพร่ออกสู่โลกสาธารณะผ่านเว็บไซต์ “ประชาไท” โดยผู้เขียนบทความดังกล่าวได้วิพากษ์ถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมที่เป็นเพียงการนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับระบอบอำนาจนิยมมาทำให้ดูสวยงาม (Romanticise) อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์จัดกิจกรรมโดยคำนึงถึงความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมและการเมือง จุดประกายทางความคิดให้นิสิต ซึ่งผู้เขียนได้ยกเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ผู้ซึ่งเป็นเยาวชนธรรมดาคนหนึ่งที่เดิมไม่มีผู้ใดรู้จัก มาเรียกร้องผู้มีอำนาจให้สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวคนเดียว เพื่อชี้ให้เห็นถึงพลังของเยาวชนที่มีอยู่มาก ขณะที่สโมสรนิสิตฯ มีทั้งปริมาณคนและฐานเสียง พร้อมด้วยลักษณะขององค์กรที่มีความเป็นทางการ แต่กรรมการบริหารสโมสรนิสิตฯ กลับไม่เห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ มองตนเป็นเพียง “เบี้ย” ของอาจารย์ อย่างไรก็ตามผู้เขียนบทความดังกล่าวยืนยันว่าตนไม่ได้ต้องการต่อต้านกิจกรรมในลักษณะนี้ เพียงแต่ต้องการให้มีการสอดแทรกความเป็นการเมืองด้วย ตามอัตลักษณ์ที่ควรเป็นของคณะรัฐศาสตร์
จากนั้นผ่านไปอีกเพียง 5 วัน คือ วันที่ 26 กันยายน 2562 ได้มีผู้ใช้นามแฝงว่า “อรรถพล” เขียนตอบโต้บทความของคุณ “เสียงเล็กๆ ที่ไม่ดัง” ด้วยบทความ “ดีแล้วที่สโมฯ รัฐศาสตร์ไม่บ้าตามวาทกรรมโลกจะแตก” ผ่านช่องทางเดียวกัน4 โดยผู้เขียนบทความตอบโต้นี้ได้เริ่มต้นจากการคาดเดาก่อนว่า ผู้เขียนบทความที่ตนกำลังตอบโต้นั้นเป็นนิสิตปัจจุบัน และคาดเดาว่าเป็น “ผู้หญิง” จากการ “ใส่อารมณ์” ในบทความ และเริ่มโต้เถียงว่า การจัดกิจกรรมให้เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องถามความสมัครใจจากนิสิตในคณะก่อน โดยยกกรณีเทียบกัน คือ การที่อาจารย์พูดเรื่องการเมืองแบบเลือกข้างในห้องเรียน ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และพยายามชี้ให้เห็นว่า สาเหตุของการที่กิจกรรมสูญเสียความน่าสนใจลงเรื่อย ๆ คือ การที่อาจารย์พยายามสอดแทรกความเป็นวิชาการและการเมืองผ่านกระบวนการอนุมัติงบประมาณโครงการ จนทำให้กิจกรรมสันทนาการสูญเสียความสนุกไป อีกทั้งยังโต้แย้งการใช้เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เป็นต้นแบบของการเรียกร้องทางสังคม โดยอ้างว่าเธอเป็นเพียง “เด็กผู้หญิงที่เป็นโรคออทิสติกวัย 16 ปี ไม่ไปเรียนหนังสือ แต่ออกไปประท้วงโลกร้อน มีคนทำตามเธอเยอะ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ก็บ้าตาม” และบอกว่าเธอนั้นไม่ได้ทำสิ่งใดนอกจากการวิจารณ์ ขณะที่หน่วยงานต่าง ๆ มีมาตรการมากมายเพื่อแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันก็วิพากษ์ว่าเธอทำตัวเทียบนักวิทยาศาสตร์ ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคน รวมทั้งผู้ที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องโลกร้อน สิ่งที่เธอทำจึงเป็นเพียงการผลิตซ้ำวาทกรรมกดไม่ให้กลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) พัฒนาได้ด้วยทรัพยากรต่าง ๆ
และในที่สุด เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 คุณโมโตกิ ลักษมีวัฒนา นิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 64 ได้เขียนบทความ “ว่าด้วยอนุรักษ์นิยมคุณภาพต่ำ ผ่านการมองปฏิกิริยาของคนรุ่นเก่าที่มีต่อคนรุ่นใหม่” เพื่อตอบโต้กลับผ่านช่องทางเดียวกัน5 โดยคุณโมโตกิได้มีข้อวิพากษ์บทความคุณอรรถพลว่า เป็นบทความที่มีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมคุณภาพต่ำ ผ่านความเป็นฝ่ายปฏิกิริยา (reactionary) ประเภทที่ย้อนแย้งในตัวเองและมุ่งแต่จะโต้แย้งให้ชนะ คุณโมโตกิได้ยกทฤษฎี “ข้อโต้แย้ง 3 ข้อของปฏิกิริยา (the three theses of reactions)” ของ Albert O. Hirschman และ The Reactionary Mind ของ Corey Robins เพื่ออธิบายลักษณะความเป็นอนุรักษนิยมของคุณอรรถพล และตั้งข้อสังเกตถึงการที่ข้อโต้แย้งของคุณอรรถพลที่ว่าผู้มีอำนาจมีมาตรการต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่แล้ว และที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะไม่สามารถเจริญได้ นั้นขัดแย้งกันเอง อีกทั้งยังมีความผิดพลาดของข้อมูลที่นำมาโต้แย้งมากมาย ทั้งในประเด็นโรคแอสเพอร์เจอร์ของเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐบาล หรือในประเด็นที่ Ivar Giaever ที่ไม่เห็นด้วยเรื่องโลกร้อน เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์
นับจากเหตุการณ์ดังกล่าว สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ก็ไม่เคยจัดกิจกรรม Back to School ในนามของสโมสรฯ ด้วยมติของคณะกรรมการบริหารฯ อีกเลย เหลือเพียงแต่การจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ในระดับย่อยโดยคณะกรรมการบริหารชั้นปี 1 ในบางปีการศึกษาเท่านั้น
เนื้อหา: อัฐณัฏฐ์ เต็มสุวรรณพานิช
พิสูจน์อักษร: ฐิญาดา บุญกูล
ภาพ: ปุณิกา ยะมาภัย
- เสียงเล็กๆ ที่ไม่ดัง, “โลกจะแตก น้ำจะท่วมโลก แต่สโมฯ รัฐศาสตร์ยังจัดกิจกรรมไร้อนาคต,” ประชาไท, 21 กันยายน 2562, https://prachatai.com/journal/2019/09/84440.
- รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยสามัญ ครั้งที่ 4 / 2562 วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมสีหราช ชั้น M อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี)
- สรุปผล “เวทีเสนอความเห็น ครั้งที่ 1” วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม เวลา 16.30 น. ณ โถงชั้น G อาคารเกษม อุทยานิน (ตึก 3)
- อรรถพล (นามแฝง), “ดีแล้วที่สโมฯ รัฐศาสตร์ไม่บ้าตามวาทกรรมโลกจะแตก,” ประชาไท, 26 กันยายน 2562, https://prachatai.com/journal/2019/09/84501.
- โมโตกิ ลักษมีวัฒนา, “ว่าด้วยอนุรักษ์นิยมคุณภาพต่ำ ผ่านการมองปฏิกิริยาของคนรุ่นเก่าที่มีต่อคนรุ่นใหม่,” ประชาไท, 29 กันยายน 2562, https://prachatai.com/journal/2019/09/84546.
Leave a Reply