เสียงสะท้อนที่เงียบงัน : การต่อสู้กับความอยุติธรรมและระบอบกษัตริย์เอสวาตินีที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญของทูลานี มาเซโกะ (Thulani Maseko) 

ทูลานี มาเซโกะ (Thulani Maseko) เป็นทนายความและนักกิจกรรมผู้ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศเอสวาตินี ในฐานะประชาชนที่เติบโตในเอสวาตินี เขาสังเกตเห็นความเหลื่อมล้ำและความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด โดยเขาได้วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐและกฎหมายปราบปรามของเอสวาตินีอย่างเปิดเผย 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2566 ทูลานี ถูกยิงเสียชีวิตผ่านทางหน้าต่างบ้านของเขา สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเงียบสงบ เป็นส่วนตัว และเปี่ยมไปด้วยความรักที่ทูลานีมีต่อภรรยาและลูก ๆ ต้องกลายเป็นจุดจบชีวิตของเขาอย่างน่าสะเทือนใจ 

ก่อนหน้าเหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตี ที่ 3 (King Mswati III) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สังคมลืมไม่ลงไว้ว่า “ผู้ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยจะต้องถูกจัดการ ประชาชนไม่ควรหลั่งนํ้าตากับความตายของพวกพวกนักเรียกร้องประชาธิปไตยเหล่านั้น และไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ทหารรับจ้างคนใดที่ฆ่าพวกเขาไป” เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นเพียงการเชือดไก่ให้ลิงดูจากฝั่งรัฐบาล เพื่อส่งสัญญาณเตือนบรรดานักเคลื่อนไหวที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล 

สำหรับประเทศเอสวาตินี หรือชื่อเดิมคือ สวาซิแลนด์ เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในแอฟริกาที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้การนำของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 แห่งราชวงศ์ดลามี โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ได้ให้อำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและยุบรัฐสภาโดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน นอกจากนี้ กษัตริย์ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองกำลังป้องกันและกำกับดูแลกิจการของตำรวจร่วมด้วย 

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังขาดการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อาทิ สิทธิการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่ประชาชนพึงมี แต่กลับมอบอำนาจเด็ดขาดแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้กำลังต่อประชาชนได้อย่างอิสระ รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของเอสวาตินีในปี พ.ศ. 2565 ได้เปิดเผยประเด็นความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย เช่น การสังหารตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ การควบคุมสื่อ การแทรกแซงการชุมนุม การจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการใช้แรงงานเด็ก 

นอกจากการวางรากฐานระบอบการปกครองให้เอื้อต่ออภิสิทธิ์ชนแล้ว กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ยังมีวิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือย โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของเอสวาตินีมีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประชาชนกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมีรายงานว่ากษัตริย์ทรงใช้เงินกว่า 700 ล้านบาทเพื่อซื้อรถยนต์หรูหรา เครื่องบิน และสิ่งของฟุ่มเฟือยอีกจำนวนมาก 

ในกรณีของเอสวาตินี อาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับคนบางกลุ่มเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และรักษาเสถียรภาพของระบอบ แทนที่จะเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีส่วนเชื่อมโยงกับการเมืองทั้งสิ้น

เรื่องราวของทูลานีจึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจถึงการต่อสู้กับความอยุติธรรมทางสังคม และการหันมาใส่ใจในประเด็นทางการเมืองมากขึ้น เพราะการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของผลประโยชน์หรืออำนาจหากแต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือแม้แต่การไม่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ  สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หากเรามีการเมืองที่ดี  ไม่ใช่การเมืองที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สุดท้ายนี้ความอยุติธรรมนั้นมีอยู่ในสังคมมากมาย แต่จะมีสักกี่คนที่ลุกขึ้นมาสู้กับมัน บางคนซึ่งตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมจึงออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ในขณะที่บางคนมองว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา กระนั้นก็ดี การเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมก็เหมือนกับการปล่อยให้สิทธิและเสรีภาพถูกลิดรอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจนำไปสู่การปล่อยให้ผู้มีอำนาจใช้ความอยุติธรรมมากำหนดทิศทางของสังคมโดยสมบูรณ์ 

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับทูลานี มาเซโกะ และครอบครัวในแคมเปญ ‘Write For Rights’ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยการเขียนเรียกร้องให้กษัตริย์เอสวาตินีดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับการสังหารอย่างผิดกฎหมาย ดำเนินการจับกุมตัวผู้กระทำผิด และให้มีการพิจารณาคดีนี้อย่างยุติธรรม

เพียงหนึ่งเสียงของคนธรรมดาก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/international-43833451

Eswatini

Demand justice for Thulani Maseko

เนื้อหา สุภัสสรา โพธิ์เย็น

พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน

ภาพ นันท์นภัส พิมสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *