ควันหลง “โอลิมปิกเกมส์” กับแรงบันดาลใจที่ไม่เคยมีคำว่า “สายเกินไป”

posted in: ทั่วไป | 0

ในปี 2567 ได้มีการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะวนมาสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมทั่วโลกในทุก ๆ 4 ปี อย่าง “โอลิมปิกเกมส์” หรือหากจะเจาะจงมากยิ่งขึ้นก็คือ การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งในครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 10,500 คน จาก 206 ประเทศทั่วโลก โดยมีการแข่งขัน 32 ประเภทชนิดกีฬา รวม 329 รายการ (329 เหรียญทอง) สำหรับประเทศไทยมีนักกีฬาที่คว้าตั๋วโอลิมปิกในครั้งนี้ทั้งสิ้น 51 คน จาก 17 ชนิดกีฬา

อาจเป็นเพราะมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี้จะวนมาทุก ๆ 4 ปี ผู้คนทั่วโลกจึงมักจะเฝ้ารอ และติดตามการแข่งขันอย่างใจจดใจจ่อ เช่นเดียวกับผู้คนชาวไทยที่มีความกระตือรือร้นในการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนักกีฬาไทย และรวมพลังส่งแรงใจ จนบางคนถึงขั้นอดหลับอดนอนเพื่อเชียร์นักกีฬากันเลยทีเดียว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในยุคที่ประเทศไทยยังมีการถ่ายทอดสดผ่านหน้าจอ ฟรีทีวี โดยสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละช่อง เป็นช่วงที่คนไทยสามารถเข้าถึงการแข่งขันกีฬาได้ง่าย ทำให้การแข่งขันกีฬาดังกล่าวจะเป็นที่พูดถึงไปชั่วขณะหนึ่งไม่ว่าจะผู้ใหญ่ที่อาจอยากลุกขึ้นมาเล่นกีฬา หรือแม้กระทั่งเด็กและเยาวชนที่ไม่ประสีประสาในช่วงนั้น อาจเติบโตเป็นผู้ที่ความฝันเกี่ยวกับกีฬา เช่นเดียวกับผู้เขียนเอง

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2555 หรือ ค.ศ. 2012 ที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 30 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ผู้เขียนอายุประมาณ 8-9 ปี ซึ่งไม่ประสีประสาจริง ๆ อย่างที่ได้กล่าวไว้ ได้มีโอกาสนั่งชมการแข่งขันกับครอบครัวที่ตอนนี้ผู้เขียนก็จำไม่ได้แล้วว่านั่งชมตั้งแต่ตอนไหน หรือนั่งชมกีฬาอะไรไปบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนจำได้ไม่ลืมเลยนั่นคือ ในการแข่งขันมวยสากลรอบชิงชนะเลิศที่นักชกไทยอย่าง แก้ว พงษ์ประยูร ได้ออกลวดลายและชกอย่างสมศักดิ์ศรี จนทำให้คนไทยต่างมีความหวังว่า แก้ว จะคว้าเหรียญทองต่อจาก สมจิตร จงจอหอ แต่ผลกลับพลิกล็อกว่า โจว ซื่อหมิง นักชกจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ชนะและคว้าเหรียญทองอย่างไม่น่าเชื่อ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรุมด่า AIBA (Amateur International Boxing Association) หรือ IBA ในปัจจุบันอย่างไม่มีชิ้นดี กลับทำให้เด็กน้อยที่ไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬามวยสากล เริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมนักชกคนนี้ถึงชนะ แล้วทำไมเขารวมถึง AIBA ถึงโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนี่เป็นโอลิมปิกแรกที่ผู้เขียนได้ชม แล้วผู้ใหญ่ก็พูดกันว่าในการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งก่อน ๆ ประเทศไทยได้เหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้ติดกันถึง 4 ครั้ง ได้แก่ สมรักษ์ คำสิงห์ (แอตแลนตา 1996), วิจารณ์ พลฤทธิ์ (ซิดนีย์ 2000), มนัส บุญจำนงค์ (เอเธนส์ 2004) และ สมจิตร จงจอหอ (ปักกิ่ง 2008) นั่นจึงทำให้ผู้เขียนเริ่มค้นหาคำตอบและให้ความสนใจกับสิ่งนี้จนซึมซับกลายเป็นความชอบโดยไม่ทันตั้งตัว

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2564 หรือ ค.ศ. 2021 ในยุคที่โควิดกำลังระบาดอีกครั้ง และเป็นช่วงที่การถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามาแทนที่ฟรีทีวี ก็ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 32 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีนักกีฬาจากประเทศไทยได้เหรียญมา 2 คน ได้แก่ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เหรียญทองจากกีฬาเทควันโด และ สุดาพร สีสอนดี เหรียญทองแดงจากกีฬามวยสากล แม้ ณ ช่วงเวลานั้นผู้เขียนจะอายุ 18 ปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองอยากลองฝึกฝน อยากลงแข่งขัน ถึงผู้เขียนจะไม่ได้เริ่มลงมือทำตั้งแต่ยังเด็กเพราะจังหวะชีวิตที่ไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อแรงบันดาลใจจากในวัยเด็กยังคงอยู่ และแรงบันดาลใจที่เพิ่มขึ้นจากการชมการแข่งขันในครั้งนี้ สำหรับผู้เขียนก็ถือว่ามันยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นและลงมือทำ

จนถึงตอนนี้เองที่ผู้เขียนได้นั่งชมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งล่าสุด และเขียนบทความนี้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ได้ทบทวนความทรงจำ จึงได้พบว่า จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เป็นไฟจุดประกายในใจของผู้เขียนโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นไฟที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจออกวิ่งไล่ตามความฝัน รวมถึงเหล่านักกีฬาทีมชาติไทยหลาย ๆ คน ที่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ มาจากคนใกล้ตัวหรือจากการนั่งรับชมการแข่งขัน

อาทิ นักกีฬามวยสากลที่คว้าเหรียญทองแดงคนล่าสุดอย่าง บี จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง1 ที่ความชื่นชอบในการชกมวย จากที่ได้เห็นคุณตาและคุณพ่อ ชื่นชอบในการดูมวย ประกอบกับที่บ้านเป็นค่ายมวย และอยู่ชมรมมวยที่โรงเรียนวังหลวงพิทยาสรรพ์ อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ทำให้เมื่อเธออายุย่างเข้าสู่ 12 ปี ก็เริ่มก้าวเข้าสู่วงการมวยไทยในชื่อว่า “น้องบี ป.ประสิทธิ์” ก่อนจะชกเพียง 7 ไฟต์ และหาคู่ชกได้ยาก จึงเบนเข็มมาฝึกมวยสากลตั้งแต่นั้นมา

นักกีฬาแบดมินตันผู้สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญเงินอย่าง วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์2 ที่เริ่มเล่นแบดมินตันครั้งแรกตอนอายุ 7 ปี เนื่องจากคุณพ่อเป็นโค้ช สอนแบดมินตัน จึงได้เดินทางไปดูพ่อสอนแบดมินตันที่สนามบ่อยครั้ง มีโอกาสได้ฝึกกับพ่อ และเกิดความชอบจนเริ่มเรียนแบดมินตันจริงจัง กับชมรมแบดมินตันเสนานิคม และย้ายมาอยู่ชมรมแบดมินตันอมาตยกุล จนอายุ 13 ปี ก็ย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และฝึกซ้อมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

รวมถึง การกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีของวงการกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยอย่าง เวฟ วีรพล วิชุมา3 เจ้าตัวเริ่มให้ความสนใจในกีฬายกน้ำหนักจากการได้เห็น “Lu Xiaojun” นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติจีน ผู้เป็นไอดอลของเขา จากนั้นจึงได้เริ่มเรียนรู้และฝึกฝนจนได้เข้ามาอยู่ในสังกัดสโมสรสุรินทร์ โดยมีผู้ฝึกสอนคนแรก คือ นายสันติ อดทน เป็นผู้ถ่ายทอดเคล็ดลับวิชา

และผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้เขียนอย่าง เฟี้ยว จุฑามาศ จิตรพงศ์4 ที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าอยากจะไปแข่งโอลิมปิกเกมส์ จากที่ได้รับชมสมจิตร จงจอหอ หรือนักชกเหรียญทองโอลิมปิกปี 2008 ซึ่งก็เหมือนเป็นภาพซ้อนทับที่ผู้เขียนอยากจะลงแข่งขันในประเทศอย่างกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย จากการที่ได้ชม เฟี้ยว จุฑามาศ แข่งขันเช่นกัน

แม้แรงบันดาลใจของผู้ที่ชื่นชอบเล่นกีฬาคนหนึ่งคนจะหาได้ง่ายเพียงแค่ได้ลองรับชมการแข่งขัน ไม่ว่าจะติดขอบสนาม หรือติดหน้าจอ แต่เส้นทางที่กว่าคน ๆ หนึ่งจะไปถึงจุดที่ฝันไว้นั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด หากมีพ่อแม่คอยสนับสนุน ทางบ้านมีฐานะมากพอที่จะส่งลูกเข้าเรียนในสถาบันกีฬาที่มีชื่อเสียง และมีผู้ใหญ่ในวงการกีฬาให้การสนับสนุนไปอีกขั้นก็คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็อาจทำให้เราไปถึงฝันของตนได้ช้าลง

อย่างเช่นในกรณีของผู้เขียนเองที่พ่อแม่ไม่ได้ให้การสนับสนุนเราไปในสายกีฬามาตั้งแต่แรก ชีวิตในวัยประถมมัธยมวนเวียนอยู่แต่กับการเรียนในห้อง กลับบ้านก็อ่านหนังสือ จนเคยหมดหวังกับความฝันนี้ไปแล้วหลายครั้ง แต่เมื่อได้เห็นนักกีฬาได้เหรียญ ได้เห็นนักกีฬาลงแข่งในเวทีใหญ่ ความฝันที่เหมือนจะหายไปก็มักจะกลับมาอีกครั้งเสมอ ทำให้ในวัยมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนได้เริ่มลองจัดการกับชีวิตตนเอง จึงขอพาตัวเองไปหาโอกาสดูบ้าง เช่น การเข้าชมรมมวย เป็นต้น แต่ผู้เขียนก็ยอมรับความจริงว่ามันก็ไม่ได้ง่ายสักทีเดียวสำหรับเส้นทางนี้

สิ่งหนึ่งเลยที่ผู้เขียนมองว่าเป็นปัญหาหลัก คือ การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาภายในประเทศ ไม่ว่าจะกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเอง ขอให้ผู้อ่านลองสังเกตดูว่าหากผู้อ่านไม่ได้สนใจเรื่องกีฬาเป็นทุนเดิมและผู้อ่านไม่ได้มีเพื่อน มีพี่น้องที่ต้องไปแข่งกีฬา ผู้อ่านอาจไม่ได้รับรู้ข่าวสารเรื่องการแข่งขันกีฬาดังกล่าวเลย เพราะการแข่งขันจะค่อนข้างเงียบมาก ๆ และไม่ได้ถูกพูดถึงในสังคมโดยภาพรวมเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น โรงเรียนที่อาจไม่ได้สนับสนุนนักเรียนของตนให้ไปแข่งขันกีฬา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือเท่าที่ควร ซึ่งรวมถึงรัฐบาลเองที่ยังสนับสนุนกีฬาภายในประเทศได้ไม่ดีพอ 

ผู้เขียนเชื่อว่า หากมีการสนับสนุนให้มีการจัดงานแข่งขันภายในประเทศที่ยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและรับรู้กันทุกภาคส่วน เพื่อให้เด็กและเยาวชนไฟแรง รวมถึงประชาชนที่สนใจ ได้มีโอกาสเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนคนหนึ่งให้ได้ลองฝึกฝนตนเอง ให้ได้เข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาที่พวกเขาชื่นชอบ อาจเริ่มต้นจากการคัดเลือกตัวแทนอำเภอ ไประดับจังหวัด ระดับภาค จนถึงระดับประเทศ แม้จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่าประโยชน์ที่ได้นั้นมันมากมายมหาศาลกว่างบประมาณที่ใช้ไปแน่นอน ซึ่งบางทีสมาคมอาจได้พบเจอกับ “ช้างเผือก” ที่อยู่ในป่ามานานหลายปีก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการกีฬา ได้เห็นเด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น และก็หวังอยู่ลึก ๆ ในใจว่าความฝันที่ผู้เขียนตามหามานานจะกลายเป็นความจริงในสักวัน และก็หวังให้มันเป็นจริงกับคนอื่นเช่นกัน

No one can order you to stop dreaming.

เนื้อหา: วริศรา ครุฑอยู่

พิสูจน์อักษร: ฐิญาดา บุญกูล

ภาพ: อภิชญาณ์ ระหงษ์


  1.  PPTV Online. (2567). เปิดประวัติ “บี” จันทร์แจ่ม นักมวยสากลหญิงไทย ในศึกปารีสเกมส์ 2024. (ออนไลน์).  https://www.pptvhd36.com/sport/news/229826
  2. Bright Today. (2567). ประวัติ วิว กุลวุฒิ นักแบดมินตันทีมชาติไทย โค่นมือ 1 โลก โอลิมปิก 2024. (ออนไลน์). https://www.brighttv.co.th/lifestyle/view-badminton
  3. Thairath Online. (2567). เปิดประวัติ “เวฟ” วีรพล วิชุมา ก่อนเข้าป้ายคว้าเงิน ยกน้ำหนัก 73 กิโลกรัม ชาย. (ออนไลน์).
    https://www.thairath.co.th/sport/worldsport/others/2806692
  4. ปวีน เทพพวงทอง. (2567). จุฑามาศ จิตรพงศ์ นักชกพรแสวง 3 ปีจากโตเกียวสู่ปารีสกับไฟที่ยังคงลุกโชน. Stadiumth. (ออนไลน์). https://stadiumth.com/olympic/highlight/detail?id=571&tab=thaispotlight

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *