: รัฐไทยกับการจัดสรรคุณภาพชีวิตให้แก่ “คน” พิการ ภายใต้ระบบราชการแบบไทยๆ
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้พิการมากกว่า 4 ล้านคน (จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2565) แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิการทั้งหมดไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการตามกฎหมาย เพียงเพราะพวกเขา “พิการยังไม่พอ” แม้จะมีการออกกฎหมายและการให้สัตยาบันในปฏิญญารับรองสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้พิการ ถึงกระนั้นพวกเขายังถูกมองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “คน” ในสังคม
รายงานการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่า ในไทยมีผู้พิการกว่า 4.19 ล้านคน หรือคิดเป็น 6% ของประชากรทั้งหมด และมีเพียง 42.6% ของผู้พิการทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคนพิการ พวกเขาเหล่านี้จะได้สิทธิ์รับเบี้ยความพิการแค่ราว 800-1,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนของผู้พิการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนนั้นไม่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการ ซึ่งอาจเป็นเพราะขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยาก หรือการเดินทางที่ลำบาก และยังมีอีกเหตุผลสำคัญที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ผู้พิการจำนวนไม่น้อย คิดว่าตนเอง “ไม่เข้าข่าย” ความเป็นผู้พิการตามคำนิยามของคำว่า “ผู้พิการ” ในกฎหมายแบบไทยๆ
การประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการตามกฎหมายนั้น พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า ผู้พิการจะต้องมีความพิการประเภทใดประเภทหนึ่งจากความพิการทั้งหมด 7 ประเภท เช่น พิการทางการมองเห็น พิการทางการเคลื่อนไหว หรือพิการทางสติปัญญา เป็นต้น ผู้พิการจะได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยใช้คู่มือการตรวจประเมินและวินิจฉัยความพิการซึ่งแม้จะอิงตามแนวคิดการประเมินแบบ ICF ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่หลายประเทศทั่วโลกยอมรับและได้ผลดีในทางทฤษฎี แต่เมื่อนำมาปรับใช้ในไทยนั้น ยังมีผู้พิการจำนวนไม่น้อยที่ถูกปฏิเสธการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงเพราะเหตุผลที่รัฐอ้างว่า “พิการเพียงเท่านี้ ไม่ถือว่าพิการ” เช่น การตาบอดข้างเดียว อาจถูกตีตกไม่นับว่าเป็นผู้พิการทางการมองเห็น หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นอย่างการที่ผู้พิการที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวจึงถูกเลือกปฏิบัติจากการสมัครเข้าทำงานและทำให้เป็นอุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคม บุคคลเช่นนี้ก็ยังไม่เข้าข่ายการเป็นผู้พิการตามกฎหมาย และไม่ได้เบี้ยความพิการ เพราะพวกเขาไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งสองตัวอย่างข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นปัญหาของ “การตกหล่นผู้พิการ” ในสังคมไทยที่ทุกคนมองข้าม
ภาครัฐควรทบทวนคู่มือที่ใช้ในการประเมินผู้พิการให้มีความครอบคลุมกับผู้พิการทุกประเภทและเข้ากับบริบทสังคมปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นผู้พิการ อันนำมาซึ่งการสูญเสียสิทธิที่จะได้เบี้ยความพิการ (อันน้อยนิด) หรือการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างการเข้ารับการฟื้นฟูร่างกาย และอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการต่าง ๆ ทั้งยังควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและขั้นตอนทางราชการ (Red Tape) ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ รวมถึงรัฐจะต้องส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักรู้ในสิทธิและความเท่าเทียมของผู้พิการที่ไม่ควรถูกมองว่าแตกต่างอะไรไปจาก “คน” ธรรมดาคนหนึ่งในสังคม
ที่มา
https://www.unicef.org/thailand/media/11376/file/Disability%20Survey%20Report%202022.pdf
https://tdri.or.th/2022/05/disability-assessment-th/
https://www.bbc.com/thai/thailand-62311330
https://www.thansettakij.com/general-news/516755
เนื้อหา ภัคภณ ประดิษฐกุล
พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน
ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์
Leave a Reply