Uncle Pabai and Uncle Paul : ลมหายใจเฮือกสุดท้ายก่อนที่บ้านจะหายไปตลอดกาล

ภัยคุกคามโลก “ภาวะโลกรวน (Climate Change)” คือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างไม่มีท่าทีว่าจะควบคุมได้ อารยธรรมที่วิวัฒนาการไปข้างหน้าเรื่อยๆ กลับสร้างผลเสียให้กับโลกในความเร็วที่วิ่งตามไม่ห่างกันเท่าไหร่นัก และที่น่าเศร้าไปยิ่งกว่านั้นคือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นกลุ่มแรกๆ กลับกลายเป็นชุมชนที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อภาวะโลกรวนน้อยที่สุดไปเสียอย่างนั้น

ภาวะโลกรวนที่เกิดอยู่ในขณะนี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งทำให้น้ำร้อนขึ้นและขยายตัว และยังทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย สองปัจจัยนี้ได้ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างไม่มีทีท่าว่าจะชะลอลง ส่งผลให้ทุกเกาะทั่วโลกได้รับผลกระทบอันแสนสาหัสต่อสภาพความเป็นอยู่บนเกาะตามมา ซึ่งเกาะ Guda Maluyligal คือหนึ่งในนั้น

ลุงพาไบและลุงพอล พวกเขาทั้งคู่เป็นผู้นำชุมชนจาก Guda Maluyligal เกาะแห่งหนึ่งบริเวณช่องแคบทอร์เรส (Torres Strait) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นด่านหน้าในการรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกรวน และปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล 

ปัญหาที่ชาว Guda Maluyligal กำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ คือ ระดับน้ำทะเลที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เมตร นั่นหมายถึง เกาะอย่าง Guda Maluyligal มีแนวโน้มที่สูงมากว่าจะถูกน้ำท่วมและกำลังจะจมหายไปจากแผนที่โลกในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม ถึงปัญหาภาวะโลกรวนจะเป็นวิกฤตที่มีชะตาชีวิตของผู้คนหลายล้านคนบนโลกเป็นเดิมพัน แต่รัฐบาลออสเตรเลีย ผู้ถือสิทธิ์ครอบครองเกาะ Guda Maluyligal ก็ยังไม่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการแก้ไขวิกฤตนี้เท่าที่ควร ทำให้ชาวเกาะ Guda maluyligal นำโดยลุงพาไบและพอลยื่นเรื่องต่อศาลในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง (Duty of Care) ของรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อหวังให้ภาครัฐกระตือรือร้นในการออกนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภัยพิบัติเหล่านี้

หากวิกฤตโลกรวนนี้ยังทวีความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่  คนกลุ่มแรกๆที่อาจต้องสูญสิ้นซึ่งแผ่นดินอยู่คงหนีไม่พ้นประชากรที่อาศัยอยู่บนเกาะทั้งหลาย พวกเขาคงจำเป็นต้องอพยพจากมาตุภูมิของตนไปยังแผ่นดินใหญ่ของประเทศออสเตรเลียโดยทันทีพร้อมกับสถานะผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Refugee) แม้ว่าจะได้รับการดูแลเยียวยาจากรัฐบาล แต่ผลกระทบที่มาพร้อมสถานะดังกล่าวย่อมส่งผลต่อชาว Guda Maluyligal โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ เช่น การที่พวกเขาต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของเขาและเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่โดยฉับพลัน คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถปรับตัวได้ในเร็ววัน

จากการสำรวจของ Global Internal Displacement Database พบว่า จำนวนของผู้พลัดถิ่นเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 160 ล้านคนเป็น 260 ล้านคน และร้อยละ 90 ของคนจำนวนนี้มาจากประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนและรัฐหมู่เกาะขนาดเล็ก

ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุด คือ การสูญสิ้นของทุกสิ่ง ตั้งแต่บ้านเรือน ชุมชน วัฒนธรรม เรื่องเล่า และตัวตน แม้ว่าเรื่องเล่าจะถูกรักษาไว้ แต่ก็คงจะเป็นคล้ายตำนานเรื่องหนึ่ง ในเมื่อชุมชนดังกล่าวนั้นถูกลบหายไปจากแผนที่โลกเสียแล้ว เหตุผลดังกล่าวนี้จึงทำให้ลุงพาไบและลุงพอลต้องลุกขึ้นมาสู้ เพื่อให้ภาครัฐกลับมาตระหนักถึงสิทธิของชาว Guda Maluyligal ก่อนที่พวกเขาจะไม่เหลืออะไรอีกต่อไป ก่อนที่สิทธิมนุษยชนพื้นฐานของพวกเขาจะถูกลิดรอนไปมากกว่านี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของลุงพาไบและลุงพอลอาจจะเป็นภาพแทนให้เห็นถึงอนาคตอันใกล้ของมวลมนุษยชาติ ถ้าหากประชาชนและรัฐยังคงมองปัญหาความรุนแรงของสภาวะโลกรวนต่างกัน  ทั้งในเรื่องความรุนแรงหรือความเร่งด่วนของปัญหา และยังไม่จับมือกันพิทักษ์โลก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อนาคตของเราคงจะสิ้นรัฐ สิ้นชาติ และสิ้นหวังเป็นแน่

“หากการเขียนของคุณสามารถสะท้อนเสียงอื่นๆ ได้”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ริเริ่มแคมเปญ Write For Rights  หนึ่งในการรณรงค์โดยใช้การเขียนเพื่อทวงคืนสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับและสะท้อนเสียงจากผู้ไร้เสียงให้กึกก้องไปทั่วโลกภายใต้ร่มของสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยกันนี้แด่คุณทุกคนที่หัวใจยังเต้นอยู่ มาร่วมต่อสู้เพื่อขยายเสียงของคนผู้กล้าหาญเหล่านั้นกับกิจกรรม W4RS เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามครรลอง และให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อประชาชนของตน

ที่มา

https://www.weforum.org/agenda/2021/05/idmc-internally-displaced-persons-disaster-conflict-climate-change/

https://www.greenpeace.org.au/bios/wadhuam-maternal-uncle-pabai-pabai/

The case

Fighting to save their ancestral lands: Uncle Pabai and Uncle Paul, Australia: Write for Rights 2023

เนื้อหา ธีรพัฒน์ กาบคำ

พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน

ภาพ นันท์นภัส พิมสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *