With Film Theorist Project, Vichakarn SmoPolSci
*บทความนี้มีเนื้อหาที่เปิดเผยถึงตัวเนื้อเรื่องของหนัง El Conde
ด้วยเขี้ยวเล็บอันแหลมคม พละกำลังมหาศาล ร่างกายที่คงกระพัน พร้อมผ้าคลุมชุดนายพลอันน่าเกรงขาม จอมพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) บินผงาดไปท่ามกลางค่ำคืนอันเงียบสงัดเหนือกรุงซันติอาโก (Santiago) แห่งชิลี เปรียบดั่งท่านเคานต์แดรกคูลาที่ออกตามล่าหาเหยื่อผู้โชคร้ายมาดับกระหายความหิวเลือดของมัน ใครจะคาดคิดกันได้ว่า อดีตผู้นำเผด็จการแห่งชิลีที่ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2006 นั้น แท้จริงแล้วยังคงมีชีวิตอยู่ (หรือไม่?) และกำลังกลับมาออกอาละวาดเพื่อกินเลือดเนื้อผู้คนชาวชิลี สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวอีกครั้งในรอบ 32 ปีตั้งแต่การถอยลงจากอำนาจของท่านนายพลในปี 1990 !
แต่ท่านผู้อ่านอย่าพึ่งได้ตื่นตระหนกกันไป ข้อความที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด แต่เป็นเนื้อเรื่องที่ได้เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง “El Conde” หรือในชื่อไทยว่า “ท่านเคานท์” ภาพยนตร์แนวสยองขวัญตลกร้าย ที่มีการเสียดสีล้อเลียนจอมพลเผด็จการแห่งชิลี ออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ผู้ซึ่งได้ก่อการรัฐประหารรัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด (Salvador Allende) ในปี 1973 และใช้กำลังอำนาจทางการทหารปกครองกดขี่ชาวชิลีเป็นเวลาถึง 17 ปี พร้อมทั้งนำนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberal Policies) มาปฏิบัติใช้ภายในประเทศ สร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มชนชั้นนำและนายทุน แต่กลับเกิดเป็นช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมทางรายได้และสภาวะความยากจนกับประชาชนคนธรรมดาที่ยังส่งผลอยู่ถึงปัจจุบัน
El Conde ได้มีการนำเรื่องราวของปิโนเชต์มาดัดแปลงอย่างแปลกใหม่ ด้วยการนำเรื่องราวผีดิบในตำนานอย่างท่านเคานต์แวมไพร์กระหายเลือดแดรกคูลา ผสมผสานเข้ากับตัวของจอมพลปิโนเชต์ เกิดเป็นจอมเผด็จการผู้โหดร้ายทารุณ ที่สภาวะความเป็นแวมไพร์ของเขานั้น สามารถนำมาอธิบายถึงความกระหายต่อเลือดและความรุนแรง พร้อมทั้งความเย็นชาไร้ความรู้สึกที่มีต่อประชาชนผู้ถูกกดขี่ เป็นการอุปมาอุปไมยเสียดสีที่เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ โดยเรื่องราวของภาพยนตร์นี้ได้รังสรรค์ขึ้นโดยผู้กำกับมากรางวัลชาวชิลี ปาโบล ลาร์ราอิน (Pablo Larraín) ซึ่งได้เคยกำกับภาพยนตร์เช่น Tony Manero (2008) เรื่องราวของชายที่คลั่งไอดอลนักเต้นจอห์น ทราโวลต้า (John Travolta) ท่ามกลางความโหดร้ายของบ้านเมืองชิลีช่วงปี 1970 และ Post Mortem (2010) ผู้ช่วยพยาธิแพทย์ที่ต้องตามหาคนรักที่หายตัวไปหลังจากรัฐประหารปี 1973 มากไปกว่านั้นเขายังเคยกำกับภาพยนตร์ระดับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศอย่างเรื่อง No (2012) เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการลุกขึ้นมาต่อต้านจอมพลปิโนเชต์ของประชาชนชิลีในการทำประชามติปี 1988 ด้วยแคมเปญรณรงค์ที่สร้างสรรค์ นำไปสู่การสิ้นสุดการปกครองของปิโนเชต์ในปี 1990 ภาพยนตร์ชิ้นโบแดงของลาร์ราอินที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ต่างเป็นเรื่องราวที่มีพื้นหลังในช่วงเวลาของการปกครองชิลีโดยจอมพลปิโนเชต์ตั้งแต่ปี 1973-1990 และมักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวรัฐบาลเผด็จการผ่านการพูดถึงหรืออ้างอิงถึงปิโนเชต์ แต่ยังไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใดเลยไม่ว่าจะของลาร์ราอินเอง หรือของผู้กำกับอื่นๆ ที่ได้มีการนำปิโนเชต์มาเป็นตัวละครเอกในภาพยนตร์ของตน จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่อง El Conde (2023) ที่ลาร์ราอินได้นำจอมพลเผด็จการแห่งชิลี มาดัดแปลงเป็นแวมไพร์กระหายเลือดที่ยังคอยหลอกหลอนชาวชิลีอยู่แม้จะได้ลงจากอำนาจไปนานแล้ว เป็นครั้งแรกที่ปิโนเชต์ได้ขึ้นมามีบทบาทบนจอเงินในฐานะตัวละครเอก แม้จะมาในรูปแบบที่ไม่มีใครคาดคิดก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้น ลาร์ราอินได้อธิบายถึงสีโทนขาวดำของหนังไว้แทบตลอดทั้งเรื่องว่าต้องการทำให้ผู้ชมดูห่างเหิน และไม่ให้เกิดความเห็นใจกับตัวละครปิโนเชต์ แม้ว่าจะเป็นตัวเอกก็ตาม
ท่านเคานท์ เอากุสโต ปิโนเชต์ (ภาพ : Netflix)
El Conde : เมื่อจอมเผด็จการของชิลีคือแวมไพร์กระหายเลือดมนุษย์
El Conde เป็นเรื่องราวของออกุสโต ปิโนเชต์ แสดงโดยไฮเม วาเดล (Jaime Vadell) อดีตเผด็จการแห่งชิลีผู้ได้จัดฉากการตายของตนเองในปี 2006 เพื่อหลบหนีความวุ่นวายจากการถูกตามเช็คบัญชีวีรกรรมที่เขาเคยกระทำไว้ในช่วงการปกครองทหารของชิลี แต่ในความจริงแล้ว ตัวตนที่แท้จริงของปิโนเชต์คือผีดิบแวมไพร์ชาวฝรั่งเศสอายุกว่า 250 ปี ผู้มีนามเดิมว่า “คล็อด ปิโนช” (แสดงโดยเคลเมนเต้ รอดริเกซ) นายทหารช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ศรัทธายิ่งในระบอบกษัตริย์อนุรักษ์นิยม ศรัทธาถึงขั้นที่ได้ลงไปขโมยพระเศียรที่ถูกบั่นของพระนางมารี อองตัวเน็ต (Marie Antoinette) มาไว้กับตน เขาทุ่มเทกำลังและทรัพยากรทุกอย่างเพื่อต่อกรกับกลุ่มปฏิวัติที่ต้องการล้มล้างระบอบเก่า จนปิโนเชต์ตัดสินใจย้ายไปตั้งหลักปักฐานสร้างชีวิตใหม่ที่ประเทศหลังเขาโนเนมอย่างชิลีเพื่อที่จะตั้งตนเป็นราชันย์ และแล้วความฝันเขาก็เป็นจริง เมื่อนายพลปิโนเชต์ได้ทำการรัฐประหารชิลีในปี 1973 จัดการศัตรูทางการเมืองด้วยวิธีการโหดเหี้ยมอำมหิต กุมอำนาจทั้งหมดไว้ในมือของตน จนถูกขนานนามในวงคนใกล้ชิดว่าเป็น “ท่านเคานต์” แต่แล้วยุคเรืองอำนาจของท่านเคานต์ก็ต้องจบลงในปี 1990 ปิโนเชต์ต้องแกล้งตายเพื่อหลบหนีการรื้อฟื้นคดีต่างๆ ที่เขาเคยก่อไว้ เขาหนีไปใช้ชีวิตอย่างสันโดษกับ ลูเซีย อิริอาร์ต (Lucia Hiriart) ภรรยาคู่ใจของเขา แสดงโดยกลอเรีย มึ้นช์เมเยอร์ (Gloria Münchmeyer) และคนรับใช้ชาวรัสเซียที่ภักดี ฟีโอดอร์ (Fyodor) แสดงโดยอัลเฟรโด คาสโตร ( Alfredo Castro) ปิโนเชต์ต้องการจะลาโลกอย่างเต็มทน ด้วยแรงกดดันและกระแสเกลียดชังที่มีต่อเขาในช่วงที่ชิลีเป็นประชาธิปไตย ท่านเคานต์งดออกล่าดื่มเลือดเพื่อที่จะฆ่าตัวตาย แต่ไม่ทันใดก็เกิดเรื่องขึ้น เมื่อมีข่าวว่ามีบุคคลที่แต่งกายเหมือนเขาออกล่าเหยื่อในกรุงซานเตียโก สร้างความกังวลให้ลูกทั้ง 4 ของปิโนเชต์ (ว่าพวกตนจะไม่ได้มรดกอันมหาศาลของเขา) จึงต้องจ้างนักกฎหมายด้านการเงิน คาร์เมน (Carmen) แสดงโดยเพาล่า ลุชซิงเงอร์ (Paula Luchsinger) เพื่อมาจัดการเรื่องบัญชีทรัพย์สิน แต่แท้จริงแล้ว คาร์เมนคือแม่ชีจากโบสถ์โรมันแคทอลิคที่ถูกส่งมาเพื่อต่อกรกับแวมไพร์ปิโนเชต์ เกิดเป็นเรื่องราวของความวุ่นวายตลกร้ายใน El Conde พร้อมกับการโผล่มาแบบเซอร์ไพรส์ในตอนท้ายภาพยนตร์ของตัวละครลับที่คอยบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง จนทำเอาคนดูร้องอ๋อ
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านมาวิเคราะห์ถึงประเด็นและข้อความต่างๆที่ถูกซ่อนไว้ในเรื่องราวของ El Conde ว่าทำไมกันที่ลาร์ราอินได้ตัดสินใจนำแวมไพร์มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเสียดสีล้อเลียนปิโนเชต์ มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ใดบ้างที่ถูกซ่อนไว้ในภาพยนตร์นี้ และยังมีข้อความของการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองของชิลีและการเมืองโลกโดยรวม ผ่านการล้อเลียนเสียดสีที่ดูน่าตลกขบขัน แต่แท้จริงแล้วคือตลกร้ายที่น่าหดหู่ของโลกความเป็นจริง
มื้อรวมครอบครัวอันแสนสุขของท่านนายพล (ภาพ : Netflix)
ทำไมต้องแวมไพร์?
เมื่อกล่าวถึงแวมไพร์ อาจจะมีหลายท่านที่นึกถึงภาพของตัวละครเอ็ดเวิร์ดและเบลล่า คัลเลนในภาพยนตร์แวมไพร์ทไวไลท์ (Vampire Twilight) แวมไพร์หนุ่มสาวหน้าตาดีมีพละกำลังแข็งแกร่งและพลังวิเศษอันมหัศจรรย์ แถมยังเป็นแวมไพร์มังสวิรัตดื่มเลือดสัตว์เสียด้วย ดูเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีเสน่หาน่าหลงใหล แต่หากย้อนกลับไปมองต้นกำเนิดของแวมไพร์ตามตำนานพื้นบ้านของยุโรปแล้ว แวมไพร์ถือเป็นสัตว์ประหลาดกินเลือดมนุษย์ที่น่าเกลียดน่ากลัว เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและความสกปรกโสมม อย่างเช่นในตำนานแวมพีร์ (Vampir) ของชาวสลาฟคาบสมุทรบอลข่าน หรือ ผีดิบสตริโกย (Strigoi) ในโรมาเนีย ตำนานผีดิบดูดเลือดถูกทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในปี 1897 ด้วยการตีพิมพ์หนังสือนวนิยายเรื่องแดรกคูลาโดยบราม สโตกเกอร์ (Bram Stoker) ที่ได้มีการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ต่างๆ ภายหลังเช่น Dracula (1931) Bram Stoker’s Dracula (1992) Last Voyage of the Demeter (2023) สร้างภาพจำของท่านเคานต์แวมไพร์กระหายเลือด และเป็นต้นแบบของแวมไพร์ในเรื่อง El Conde
หากสังเกตดูแล้ว การนำแวมไพร์มาใช้เพื่อล้อเลียนปิโนเชต์ ถือเป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพได้ชัดว่าลาร์ราอินต้องการจะสื่อถึงอะไร เนื่องจากตามภาพยนตร์ ปิโนเชต์เป็นแวมไพร์ทั้งในบริบทโดยตรงที่เห็นได้ชัด และในบริบทเชิงอุปมาอุปไมยที่ซ่อนไว้ ในเรื่องปิโนเชต์นั้นเป็นแวมไพร์ที่โหดร้ายซาดิสม์ เขาออกล่าฆ่าผู้คนอย่างไม่สนเพศหรือวัย และใช้วิธีการกินเลือดที่ประหลาดไปจากแวมไพร์อื่นๆ ที่ผู้อ่านคงจะรู้จัก แทนที่จะเป็นการดูดกินเลือดที่คอของเหยื่ออย่างที่เราคุ้นชินกัน ปิโนเชต์ใช้มีดคมผ่าลงกลางหน้าอกของเหยื่อเพื่อควักเอาหัวใจของพวกเขามาปั่นเป็นสมูทตี้เลือดไว้ดื่มด่ำเพื่อฟื้นกำลัง เสร็จกิจแล้วก็สยายผ้าคลุมที่คล้ายดั่งปีกค้างคาว บินออกล่าหาเหยื่อผู้โชคร้ายคนต่อไป
ในบริบทเชิงอุปมาอุปไมย ความเป็นแวมไพร์ของปิโนเชต์นั้น มีนัยที่ต้องการจะสื่อถึงความโหดร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองชิลีของปิโนเชต์ การจับกุมศัตรูทางการเมือง การทรมาน บังคับอุ้มหาย หรือการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมดเปรียบได้กับการกระทำอันซาดิสม์ของระบอบแวมไพร์ที่ไร้มนุษยธรรม ไร้ความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนคนธรรมดา ดูดกินเลือดเนื้อและชีวิตของเหยื่อที่ถูกกระทำในระบอบปิโนเชต์ อ้างอิงจากรายงานเร็ทติก (Rettig Report) ที่มีการจัดทำขึ้นในปี 1991 ภายหลังการลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีของปิโนเชต์ เพื่อรายงานถึงคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงการปกครองของกองทัพ มีผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาดั่งกล่าวถึง 2,279 คน และมีผู้คนนับหมื่นที่ถูกจับกุมตัวบังคับอุ้มหาย หรือทรมานทารุณ
สถานที่ทรมานและกักขังนักโทษทางการเมืองอย่างกริมา วิวาลดิ (Grima Vivaldi) และโคโลเนีย ดิกนิดาด (Colonia Dignidad) เปรียบเสมือนรังของแวมไพร์ที่พวกมันลักพาตัวผู้คนมาเพื่อทารุณและฆ่าทิ้ง หน่วยงานสำคัญที่มีส่วนช่วยในการกดขี่ข่มเหงประชาชนคือกองตำรวจชิลี (Carabineros de Chile) หรือรู้จักกันในนาม Los Carabineros ที่เป็นเหมือนดั่งลูกสมุนแวมไพร์ ออกตามล่าเหยื่อนักโทษทางการเมืองหรือประชาชนผู้ต่อต้านกับระบบ เพื่อที่จะจับพวกเขามาทรมานเข่นฆ่าอย่างเลือดเย็น
แผ่นหินจารึกรายนามเหยื่อผู้หายสาบสูญและเสียชีวิตที่วิลล่า กริมาลดิ (ภาพ : Lion Hirth)
โบสถ์โรมันคาทอลิก นักล่าแวมไพร์ (และเผด็จการ)
ภายในเนื้อเรื่องของ El Conde จะมีตัวละครสำคัญที่มีหน้าที่และเป้าหมายเพื่อจัดการกับแวมไพร์ปิโนเชต์ซึ่งก็คือ คาร์เมน (Carmen) แม่ชีสาวที่ได้รับภารกิจจากโบสถ์โรมันคาทอลิกและได้รับการจ้างวานจากลูกของปิโนเชต์เพื่อมากำจัดเขา เป็นเรื่องปกติหากเรานึกถึงแวมไพร์ ว่ามักจะต้องถูกต่อกรด้วยไม้กางเขนอันศักดิ์สิทธิ์และบทสวดคาถาตามหลักศาสนาคริสต์ แต่ในกรณีของแวมไพร์ปิโนเชต์นั้น การที่โบสถ์โรมันคาทอลิกส่งแม่ชีมาจัดการ มีบริบทที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้อยู่
ในช่วงการปกครองชิลีของปิโนเชต์ หน่วยงานความมั่นคงอย่างกองทัพ (Fuerzas Armadas de Chile) ตำรวจ (Los Carabineros) หน่วยข่าวกรอง (Dirección de Inteligencia Nachional) มีอิทธิพลควบคุมทุกภาคส่วนสถาบันในชิลี หน่วยงานเหล่านี้คอยสอดส่องจับตาพฤติกรรมของประชาชน และใช้อำนาจกำจัดผู้เห็นต่างอย่างไร้ความปรานี แต่มีสถาบันหนึ่งที่ระบอบปิโนเชต์ไม่สามารถ (หรือไม่บังอาจ) เข้าควบคุมและจัดการได้ คือศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่เรียกได้ว่าเป็นสถาบันที่มีอำนาจรองลงมาจากปิโนเชต์ในช่วงนั้นเลยก็ว่าได้
ด้วยประชากรกว่าครึ่งของชิลีนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก สถาบันโรมันคาทอลิกจึงกลายเป็นที่พักพิงให้กับผู้ที่ถูกระบอบปิโนเชต์กดขี่ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งสังคมนิยม เสรีนิยม นักเรียกร้องสิทธิ ชนพื้นเมือง ด้วยสถานะของความเป็นสถาบันศาสนาที่อยู่คู่กับประชาชนชิลีมาอย่างยาวนาน และเป็นแกนกลางหลักของกลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงยากที่รัฐบาลปิโนเชต์จะกล้าแตะต้อง แม้ในช่วงแรกโบสถ์โรมันคาทอลิกจะให้การสนับสนุนการรัฐประหารของปิโนเชต์ แต่ภายหลังที่ระบอบทหารเริ่มคุกคามและทำร้ายคนงานหรือผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ของนิกาย ขัดต่อหลักศาสนาในความโอบอ้อมอารีเพื่อนมนุษย์ ศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งชิลีจึงต้องผันตัวเป็นนักล่าแวมไพร์แบบเต็มตัว ออกตัวต่อต้านรัฐบาลปิโนเชต์อย่างชัดเจน
ศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งชิลีมีการให้ความสนับสนุนกับผู้คนที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับระบอบปิโนเชต์ตลอดระยะเวลา 17 ปี มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมมือเพื่อสันติภาพในชิลี (COPACHI) โดยอัครสังฆมณฑลซานเตียโก ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือผู้คนที่อยากไร้ ให้การสนับสนุนทางการเงินและปัจจัยสำหรับการใช้ชีวิตอย่างอาหาร ผ้าห่ม การดูแลรักษาทางการแพทย์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงมาเป็น “เขตผู้แทนแห่งความสามัคคี” (La Vicaria de Solidaridad) ซึ่งมีการขยายขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ไปยังเรื่องการให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย โดยโบสถ์โรมันคาทอลิกมีนักกฎหมายและทนายความในเครือกว่า 300 คน ที่คอยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในชิลี และให้ความช่วยเหลือนักโทษคดีการเมือง คาดการณ์ว่าประชาชนกว่า 700,000 คนในชิลีได้รับการช่วยเหลือจากโบสถ์โรมันคาทอลิก เรียกได้ว่าแม้คริสตจักรจะออกตัวแรงว่าเป็นปฏิปักษ์กับระบอบปิโนเชต์เพียงใด ก็ไม่สามารถถูกแตะต้องได้ เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาอันแรงกล้าของชาวชิลีที่ร่วมใจกันต่อกรกับระบอบเผด็จการผีดิบอำมหิต
คาร์เมน แม่ชีสาวผู้ปลอมตัวเป็นนักกฎหมายด้านการเงินเพื่อมาปราบแวมไพร์ปิโนเชต์ (ภาพ : Netflix
เสรีนิยมใหม่ เศรษฐกิจที่ขูดรีดเลือดเนื้อประชาชน
ไม่ได้มีเพียงผีดิบแวมไพร์เท่านั้นที่ดูดกินเลือดเนื้อมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งผีร้ายที่คอยขูดรีดเอาเลือดเอาเนื้อประชาชนชาวชิลี การฝังเขี้ยวลงบนระบบเศรษฐกิจของประเทศชิลีของกลุ่มนักธุรกิจนายทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ สร้างรอยบาดแผลแห่งความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ความเก็บกดจากความไม่เท่าเทียมที่นำไปสู่การลุกฮือประท้วงในปี 2019 จนชัยชนะพรรคฝั่งซ้ายหัวก้าวหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลปี 2022 เป็นสัญลักษณ์ของประชาชนชาวชิลีที่เริ่มจะเหลือทนกับผีร้ายเสรีนิยมใหม่และต้องการหมอผีมาปราบมันให้สิ้นสุดเสียที
ระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่เชื่อในหลักความ “เสรี” อย่างสุดโต่ง เสรีในแง่ของการที่ตัวรัฐจะไม่เข้ามาแทรกแซงการดำเนินกิจการใดๆ ของภาคธุรกิจเอกชน หรือแทรกแซงเพียงน้อยนิดในส่วนที่มีความจำเป็น รัฐมีบทบาทหน้าที่เป็นเพียง “Minimal State” หรือ “รัฐตะมุตะมิ” (ได้รับอิทธิพลจากอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร) คือรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยทรัพย์สินของปัจเจก และรักษาความสงบสุขของชาติเพียงเท่านั้น ตะมุตะมิในระดับที่ว่าไม่มีบทบาทในการควบคุมหรือจำกัดขอบเขตอำนาจของกลุ่มนายทุนเลย เป็นแค่รัฐรปภ.ให้นายทุนได้ใช้สอยทรัพยากรในประเทศอย่างเต็มอิ่ม
โดยส่วนใหญ่แล้วเสรีนิยมใหม่จะมักใช้หลักคิดเช่นในเรื่องของการโอนกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน (Privatization) เพื่อสร้างตลาดใหม่ให้เหล่านายทุนหากิน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคสำคัญอย่างไฟฟ้า น้ำ ทรัพยากรแร่ธาตุสำคัญ จากรัฐวิสาหกิจก็เปลี่ยนแปลงเป็นของเอกชน ด้วยเหตุผลว่าจะเป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยงานรัฐในการดำเนินกิจการเหล่านั้น หลักการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) ที่รัฐจะลดกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่นเรื่องของระดับมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงาน หรือกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานที่ช่างเป็นเรื่องอันแสนยุ่งยากให้กับนายทุน หลักการค้าเสรี (Free Trade) ที่ผลักดันให้ลดกำแพงภาษีนำเข้าส่งออกสินค้า เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าวัตถุดิบต่างๆ หลักการที่กล่าวมาเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นที่นักคิดเสรีนิยมใหม่มักอ้างถึง โดยมีเจ้าพ่อเสรีนิยมใหม่จากสมาคมมงต์เปเลอแร็ง (Mont Pelerin Society) เช่น มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) และ ฟรีดริช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek) ที่เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิดและผลักดันให้หลักการดังกล่าวถูกนำมาปฏิบัติใช้จริง จนสุดท้ายกรรมต้องมาตกกับชิลี เหยื่อหนูทดลองรายแรกของลัทธิอันแสนขูดรีดนี้ เมื่อปิโนเชต์ขึ้นมามีอำนาจหลังการรัฐประหารรัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดีอัลเยนเด้ในปี 1973 เขาได้สรรหาแนวทางเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อมาคานกับแนวคิดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ในขณะนั้นได้รับความสนใจอย่างมากในชิลี เช่นนโยบายการแปรรูปกิจการทรัพยากรเหมืองแร่สำคัญให้เป็นของรัฐ หรือนโยบายปฏิรูปแจกจ่ายที่ดินแก่ประชาชน แต่ในช่วงปลายของรัฐบาลอัลเยนเด้ ราคาของสินค้าส่งออกสำคัญอย่างทองแดงตกต่ำลงอย่างมาก บวกกับค่าเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว ปิโนเชต์จึงต้องได้แบกรับหน้าที่ในการหาทางแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูให้ชิลีกลับมาเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนอีกครั้ง และแล้วแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ก็ได้รับเลือกให้เป็นแชมป์เพื่อมากอบกู้เศรษฐกิจชิลี ด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่ม Chicago Boys เหล่านักคิดเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมใหม่ที่จบจากมหาวิทยาลัยชิคาโก พวกเขาได้รับทุนการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อไปศึกษาต่อที่นั่น ตามโปรเจ็คชิลี (Chile Project) เพื่อจะใช้ชิลีเป็นสนามทดลองแนวคิดเศรษฐกิจที่จะเอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของสหรัฐฯ ขจัดอิทธิพลสังคมนิยมในอเมริกาใต้
แม้จะเรียกว่าเป็น “เสรีนิยมใหม่” แต่กลับไม่มีความเสรีในการปฏิบัติใช้นโยบายเหล่านี้เลย จะเสรีแค่กับเพียงกลุ่มนายทุนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐเท่านั้น หากแต่ใครผู้ใดบังอาจต่อต้านแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ก็จะถูกกำจัดทิ้งอย่างเป็นระบบ เช่นนักการเมืองฝั่งซ้ายหรือกลุ่มสหกรณ์แรงงาน การผสมผสานของรัฐเผด็จการที่กุมอำนาจเด็ดขาดด้านความมั่นคงและการเมือง บวกกับนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีไร้การควบคุมที่เอื้อโดยรัฐเผด็จการนั้น ทำให้เกิดเป็นความไฮบริดที่เข้ากันได้อย่างน่าสยดสยอง แต่เหล่านักคิดเสรีนิยมใหม่ส่วนใหญ่กลับชื่นชมแนวทางนี้ของชิลี โดยมองว่าเป็นการบำบัดแบบรุนแรง (Shock Therapy) เพื่อให้เอื้อต่อการนำนโยบายเสรีนิยมใหม่มาปฏิบัติใช้แบบไร้ผู้ขัดขวางหรืออุปสรรค เพราะอุปสรรคเหล่านั้นถูกรัฐบาลอุ้มหายไปจนหมดแล้ว
ในช่วงแรกนั้น นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่รัฐนำมาปรับใช้ดำเนินการไปได้ด้วยดี อัตราค่าเงินที่เฟ้อก็ได้รับการแก้ไขให้มั่นคง อัตราการเติบทางเศรษฐกิจที่ไต่สูงขึ้น และการไหลเวียนเข้าของการลงทุนจากต่างชาติอย่างมากมาย ชิลีฟื้นฟูตัวกลับมาเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน ขึ้นนำเป็นประเทศที่เรียกได้ว่าแทบจะเจริญที่สุดในอเมริกาใต้เมื่อเปรียบเทียบในด้าน GDP ต่อรายหัว จอมพลปิโนเชต์กลายเป็นกษัตริย์อาร์เธอร์ผู้นำความเจริญมาสู่ชิลี พร้อมควงดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ที่มีอีกนามว่าเสรีนิยมใหม่ รับใช้โดยเหล่าอัศวินโต๊ะกลม Chicago Boys
ปิโนเชต์ ร้อมลอบไปด้วยสมาชิกชิคาโกบอยส์และผู้บริหารกลุ่มทุนสำคัญ (ภาพ : Interferrencia)
แต่ปัญหาที่เหมือนหนองในเน่าเฟะก็เริ่มเผยออกมา เมื่อการพัฒนาประเทศชิลีต้องประคองด้วยการกู้ยืมเงินจาก IMF บวกกับภาวะขาดดุลการค้า นำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักตัวที่มาคู่กับความไม่เท่าเทียมทางรายได้ เมื่อทรัพย์สินความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับเพียงประชากรเพียงประมาณร้อยละ 1 ของประเทศ ผู้คนชนชั้นแรงงานกลับต้องได้รับผลกระทบในด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เนื่องจากสวัสดิการรัฐที่ควรจะมีเพื่อคุ้มครองพวกเขานั้น แทบจะถูกลิดรอนหายไปจนหมด ด้วยเหตุผลของการลดภาระรายจ่ายของรัฐ ปัญหาด้านความเท่าเทียมทางรายได้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังหลอกหลอนชิลียาวจนถึงปัจจุบัน
ช่วงหนึ่งในภาพยนตร์ El Conde ท่านเคานต์ที่พึ่งรู้สึกว่าอยากจะกลับมาฟื้นฟูพละกำลังแวมไพร์ของตนอีกครั้งได้ตัดสินใจกลับออกไปล่าเหยื่อ ด้วยความที่ห่างหายจากการออกล่าอย่างยาวนาน จึงต้องเลือกเป้าหมายที่ไม่ต้องใช้ความยุ่งยากมากนัก ซึ่งมีหญิงชราและลูกจ้างในโรงงาน ผู้เขียนมองว่า การใช้ผู้คนทั้งสองกลุ่มให้เป็นเหยื่อของปิโนเชต์นั้น เปรียบเสมือนกับการที่ตัวรัฐเผด็จการเสรีนิยมใหม่เลือกที่จะรังแกกดขี่ ขูดรีดเอาเลือดเอาเนื้อกับกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพราะในช่วงสมัยของปิโนเชต์ กระทรวงแรงงานภายใต้การนำของหนึ่งใน Chicago Boys โฆเซ ปิเญร่า (José Piñera) มีการปฏิรูปนโยบายหลายอย่างที่กระทบต่อกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของเงินบำเหน็จบำนาญ ค่าบริการรักษาพยาบาล ที่ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นภาระของเอกชน ว่าโดยง่ายคือพวกเขาต้องมีการซื้อประกันติดตัวไว้ และหักส่วนหนึ่งของรายได้ไว้กับบริษัทเอกชนที่จัดการเรื่องเงินบำเหน็จบำนาญ โดยได้รับการสัญญาจากรัฐบาลชิลีว่าจะได้เงินเป็นร้อยละ 70 ของเงินเดือนหลังการเกษียณ แต่แท้จริงแล้วพวกเขากลับได้รับเพียงร้อยละ 37 ในขณะที่บุคลากรของกองทัพได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวนเงินเดือนที่เกษียณ เปรียบดั่งรัฐเผด็จการผีดิบที่สูบกินเลือดเนื้อทุกหยดของผู้อ่อนแอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งมั่งคั่งให้กับตน และทิ้งปล่อยให้ผู้คนเหล่านั้นต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันเอง
El Conde ยังมีจุดหักมุมในช่วงท้ายของเรื่องที่ทำเอาผู้เขียนร้องอ๋อ เมื่อตัวละครลับผู้คอยบรรยายเรื่องราวต่างๆ ได้เผยตัวออกมา ถ้าใครที่เป็นผู้ติดตามการเมืองอังกฤษ คงจะรู้ทันทีเมื่อได้ยินเสียงอันแสนจะเป็นเอกลักษณ์ของเธอ หากพูดถึงเรื่องของเสรีนิยมใหม่ ผีดิบ และแวมไพร์แล้ว คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าแม่นีโอลิบ สตรีเหล็กแห่งเกาะบริเตน มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (แสดงโดยสเตลล่า โกเน็ท) นายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษคนแรก ดำรงตำแหน่งในปี 1979 ถึงปี 1990 เธอมีบทบาทสำคัญในการนำนโยบายเสรีนิยมใหม่มาปรับใช้ในสหราชอาณาจักรหลังข่าวความประสบความสำเร็จของนโยบายเหล่านั้นในประเทศชิลี เป็นตลกร้ายอันเหมาะเจาะที่ลาร์ราอินตัดสินใจนำแทตเชอร์มาแสดงเป็นหนึ่งในแวมไพร์กระหายเลือด เพราะนโยบายหลายอย่างที่เธอได้สร้างวีรกรรมเอาไว้ในสหราชอาณาจักร ก็ทำให้เธอถูกขนามนามว่าเป็นแม่มดชั่วร้าย หรือผีดิบต่างๆ นานา โดยเฉพาะจากผู้คนชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเธอ
โดยในเนื้อเรื่อง แทตเชอร์มีบทบาทเป็นแม่ที่ให้กำเนิดคลอด ”ปิโนช” หลังจากที่ถูกข่มขืนโดยกะลาสีเรือแวมไพร์ ก่อนที่เธอจะต้องทิ้งทารกปิโนชไว้ให้สถานกำพร้าในฝรั่งเศสและออกไปสร้างชีวิตใหม่ที่อังกฤษ จนได้ไต้เต้าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ตลอดการบรรยายเรื่องราวต่างๆ ในภาพยนตร์โดยแทตเชอร์นั้น เธอมีน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจและเชิดชูลูกชายสุดที่รักผู้พลัดพรากจากเธอ ซึ่งตอนนี้เขาได้กลายเป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้ชิลีจากภัยสังคมนิยม และนำพาชิลีสู่ความเจริญรุ่งเรืองด้วยหลักทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ หากมองอีกนัยหนึ่ง แทตเชอร์เปรียบเสมือนตัวแทนของอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นกำเนิดแนวคิดแบบทุนนิยมเสรีที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ที่กำลังภาคภูมิใจกับผลงานความสำเร็จของชิลีและปิโนเชต์ ผู้นำแนวคิดทุนนิยมเสรีแบบดั้งเดิม ปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้มีความสุดโต่งยิ่งขึ้น และเอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น ขูดรีดเอาเลือดเนื้อจากประชาชนคนเปราะบางได้อย่างทวีคูณ กลายเป็นต้นแบบดีเด่นให้หลายประเทศต้องนำไปปฏิบัติใช้ตาม
มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษหญิงคนแรก และแวมไพร์ผู้เป็นแม่ของปิโนเชต์ (ภาพ : Netflix)
ฟาสซิสม์ ภัยร้ายที่ยังคอยหลอกหลอนชิลีและโลก
ความกระหายในอำนาจ การใช้กำลังกดขี่ควบคุมคน ดูดกินเลือดกินเนื้อจากประชาชนคนหมู่มาก ข่มขู่สร้างความหวาดกลัว ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือคุณสมบัติที่มีความคล้ายคลึงกันของลัทธิฟาสซิสม์และแวมไพร์ ประเด็นสุดท้ายและประเด็นที่น่าหดหู่ที่สุดที่ El Conde พยายามจะสื่อให้ผู้ชมได้เห็น คือข้อความที่ว่า ฟาสซิสม์ยังไม่ได้ตาย มันแค่กำลังอ่อนแรง แต่กำลังหาทางกลับมามีอำนาจบนเวทีการเมืองใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางสภาพสังคมที่อ่อนไหวและเต็มไปด้วยความโกรธแค้นเกลียดชัง
ฟาสซิสม์ คือลัทธิที่เชื่อในเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จไว้กับรัฐหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (Totalitarianism) โดยมักมาในรูปแบบของเผด็จการผู้แข็งแกร่งทางการเมือง (Political Strongman) ที่มีความเป็นลัทธิตัวบุคคลสูง (Cult of Personality) เผด็จการแบบฟาสซิสม์จะมีลักษณะเด่นในด้านของความเป็นชาตินิยมอย่างมาก เป็นเผด็จการที่นิยมทหาร มักใช้กำลังเพื่อขยายอิทธิพลของประเทศตนหรือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองที่เป็นภัยต่อการกุมอำนาจรัฐ และหลักการต่อต้านแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างสุดขั้ว โดยมองว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของพวกอ่อนแอ สร้างความเสียหายให้กับความสามัคคีของชาติและความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ อีกศัตรูตลอดกาลของฟาสซิสม์คือแนวคิดแบบสังคมนิยม คอมมิวนิสม์ มาร์กซิสม์ เหล่านี้ก็ตกเป็นเป้าของการทำลายโดยรัฐฟาสซิสต์ โดยฟาสซิสม์ส่วนใหญ่มักมีรากฐานจากแนวคิดปฏิกิริยานิยม (Reactionism) ที่ต้องการจะย้อนคืนคุณค่าทางสังคมและการเมืองกลับไปเป็นเสมือนกับวันวาน ด้วยความคิดที่ต้องการจะหวนคืนสู่อดีตแห่งความรุ่งโรจน์ อย่างเช่นความหมกมุ่นกับจักรวรรดิโรมันของเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) เผด็จการฟาสซิสต์แห่งอิตาลี หนึ่งในผู้ริเริ่มขบวนการลัทธิฟาสซิสต์ หรืออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เผด็จการนาซีแห่งเยอรมนีที่ได้รับอิทธิพลจากฟาสซิสม์ ผู้ต้องการสร้างจักรวรรดิเยอรมันที่จะยิ่งใหญ่เทียบเท่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)
ในภาพยนตร์เรื่อง El Conde ผู้ที่หมกมุ่นและยังต้องการจะหวนคืนสู่ระเบียบโลกแบบเก่าก็คือท่านเคานต์ โคลด ปิโนช ผู้ได้ชุบตัวจากนายทหารรับใช้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สู่ออกุสโต ปิโนเชต์ จอมพลผู้กุมอำนาจและชะตากรรมของชิลี แต่ในแก่นแท้ของร่างผีดิบไร้วิญญาณตนนี้แล้ว เขายังมองตนเองเป็นทหารผู้ภักดีนิรันดร์ต่อกษัตริย์และราชินีไร้เศียร (แท้จริงแล้วเขาเก็บพระเศียรของนางมารี อองตัวเน็ตไว้ในขวดโหลดอง) ผู้สาบานตนว่าจะดำเนินพันธกิจต่อกรกับกลุ่มนักปฏิวัติหัวก้าวหน้าผู้มาทำลายล้างวิถีชีวิตและคุณค่าทางสังคมดั้งเดิมอันสูงส่ง
ท่านเคานท์แต่งองค์ทรงเครื่องดั่งขุนนางฝรั่งเศสยุคก่อนการปฏิวัติ (ภาพ : Netflix)
อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่เป็นตัวแทนของระบอบฟาสซิสม์ในภาพยนตร์คือ ฟีโอดอร์ คนรับใช้ชาวรัสเซียคู่ใจของปิโนเชต์ ผู้มีพื้นเพเป็นนายทหารในกองทัพรัสเซียขาว (White Russian Army) หนึ่งในฝ่ายที่สู้รบในสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War 1917-1922) ต่อกรกับกองทัพรัสเซียแดง (Red Soviet Army) ของสหภาพโซเวียตที่เรารู้จักกัน โดยฝ่ายรัสเซียขาวนั้นประกอบไปด้วยนายพลและนักการเมืองที่มีหัวคิดอนุรักษ์นิยม กษัตริย์นิยม หรือปฏิกิริยานิยมขวาจัด ต่อต้านรัฐบาลสังคมนิยมโซเวียตของพรรคบอลเชวิค แต่ภายหลังการสิ้นสุดสงครามที่ฝ่ายขาวแพ้ ฟีโอดอร์ต้องระหกระเหินหนีไปที่สหรัฐอเมริกา สถานที่ที่เขาได้ศึกษาวิชาการทหารและวิธีการทารุณนักโทษต่างๆ ก่อนที่เขาจะย้ายมาอาศัยที่ชิลี และเข้ารับใช้เป็นทหารคู่ใจจอมพลปิโนเชต์ในช่วงการปกครองทหาร
ฟิโอดอร์เป็นตัวละครที่ภาคภูมิใจและชื่นชอบในการฆ่าทรมานผู้คนเป็นอย่างมาก และเขายอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข การได้มีอำนาจเหนือเหยื่อที่ไม่รู้ว่าจะโดนทารุณกรรมอะไรบ้างเป็นสิ่งที่สนุกสนานสำหรับฟีโอดอร์ ยิ่งภายหลังที่เขายินยอมให้ปิโนเชต์กัดคอเขาเพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นแวมไพร์ การได้ออกล่าฆ่าเหยื่อด้วยร่างกายที่คงกระพันยิ่งเสริมความซาดิสม์บ้าพลังให้กับเขา ความบ้าอำนาจเหนือผู้ที่อ่อนแอไร้ทางสู้และการใช้ความรุนแรงในการกำจัดผู้เห็นต่างถือเป็นคุณสมบัติหลักของระบอบฟาสซิสม์ ซึ่งตัวละครฟีโอดอร์แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความหมดสิ้นในความมีมนุษยธรรม หลักคุณธรรมจริยธรรม และความเห็นอกเห็นใจกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก เขาเห็นมนุษย์เป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตไว้เชือดเล่นและดื่มกินเป็นอาหาร ต่ำต้อยกว่าแวมไพร์ที่สูงส่ง เหมือนกับฟาสซิสต์ที่มองแบ่งแยกเขากับเรา เหยียดหยามและกดขี่ผู้ที่ถูกมองว่าด้อยกว่า ฟีโอดอร์จึงเหมาะสมยิ่งที่จะเป็นทหารภักดีนิรันดร์ต่อพระเจ้าซาร์เฉกเช่นกับที่ปิโนเชต์ภักดีต่อพระเจ้าหลุยส์ ช่วยเหลือเอื้อกันดำเนินพันธกิจเพื่อขจัดล้างความไม่บริสุทธิ์
ฟีโอดอร์ คนรับใช้สุดอำมหิตคนสนิทของปิโนเชต์ (ภาพ : Netflix)
และหากพูดถึงพันธกิจในการต่อกรกับพวกกลุ่มปฏิวัติ ทหารผู้ภักดีนิรันดร์อย่างปิโนเชต์ก็รู้สึกว่าเขาได้บรรลุเป้าหมายของเขาแล้วภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลสังคมนิยมของอัลเยนเด้ แต่ท่านเคานต์กลับตัดพ้อกับครอบครัวของเขาในฉากรับประทานอาหารว่าประชาชนชาวชิลีไม่เห็นคุณค่าในการกระทำของเขาเลย แต่กับมองเขาเป็นเพียงฆาตกรและโจรผู้ปล้นชิง ในขณะที่ปิโนเชต์มองว่าสิ่งที่เขาได้ทำให้ชิลีมันช่างน่าภาคภูมิใจ การกำจัดภัยร้ายมาร์กซิสต์ คอมมิวนิสต์ พวกอนาธิปไตย หรือพวกเสรีนิยม จะทำให้ชิลีเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น และทรัพย์สินที่เขากอบโกยได้มานั้นก็เป็นสิทธิของวีรบุรุษผู้ที่สมควรจะได้รับรางวัลตอบแทนสำหรับวีรกรรมอันน่าชื่นชม
การตัดพ้อของท่านเคานท์ และความต้องการจะอดกินเลือดเพื่อฆ่าตัวตาย เปรียบได้กับลัทธิฟาสซิสม์ที่กำลังอ่อนแรง และอยู่ในช่วงบั้นปลายของความนิยม หลังจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกภายหลังยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนแปลงมุมมองในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ รัฐเผด็จการฝั่งขวาไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป และถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลเสรีนิยมหัวก้าวหน้า แนวคิดแบบขวาจัดอย่างฟาสซิสม์อยู่ในช่วงกระแสที่ถูกต่อต้าน โดนวิพากษ์วิจารณ์ และดูเหมือนว่าจะเริ่มหมดอิทธิฤทธิ์ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสังคมโลกได้เกิดกระแสวิกฤตการณ์ต่างๆที่เหมือนกับได้ฟื้นคืนชีพปลุกผีดิบฟาสซิสม์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะกระแสการต่อต้านผู้อพยพในยุโรป ที่เปรียบเป็นเหมือนเลือดหล่อเลี้ยงให้พรรคการเมืองขวาจัดได้ใช้ในการหาเสียง รวบรวมผู้สนับสนุน จนเกิดเป็นกระแสที่รัฐบาลพรรคขวาจัดได้ขึ้นมามีอิทธิพลในการจัดตั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ อย่างมาก โดยถึงแม้พรรคเหล่านั้นจะไม่ใช่พรรคฟาสซิสต์ (การจัดตั้งพรรคฟาสซิสต์ถูกแบนในหลายประเทศ) แต่ก็มีแก่นสารของความเป็นชาตินิยมสูง ที่สามารถปูไปสู่เส้นทางที่น่ากังวลได้
ท้ายที่สุดในภาพยนตร์เรื่อง El Conde มาร์กาเร็ตและปิโนเชต์ได้ตัดสินใจหนีไปอาศัยอยู่ด้วยกันดั่งแม่ลูก ปิโนเชต์ล้มเลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตาย และทั้งคู่ก็ได้ดื่มสมูทตี้เลือดเพื่อฟื้นฟูความเยาว์ของพวกเขา ปิโนเชต์แปลงโฉมเป็นเด็กน้อยวัยประถม ในขณะที่แทตเชอร์กลายเป็นคุณแม่วัยกลางคน โทนสีของภาพยนตร์เปลี่ยนจากขาวดำเป็นภาพสีในฉากสุดท้ายของเรื่อง พร้อมภาพอันอบอุ่นของคุณแม่ที่มาส่งลูกชายเข้าเรียนโรงเรียนประถม แต่ทว่าภาพอันอบอุ่นนี้ กลับสะท้อนให้เห็นถึงภัยฟาสซิสม์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่เพื่อให้เข้ากับบริบทของโลกยุคปัจจุบัน เป็นข้อความทิ้งท้ายที่น่าหดหู่ เมื่อเรามองเห็นตามข่าวสารถึงระดับความนิยมพรรคการเมืองประชานิยมขวาจัด และคอมเมนต์ในโลกโซเซียลมีเดียที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ผีดิบฟาสซิสม์ยังไม่ไปไหน มันแค่ปรับโฉมใหม่เพื่อที่จะมาเปลี่ยนผู้คนให้กลายเป็นแวมไพร์เฉกเช่นมันได้ง่ายขึ้น
และภายในประเทศชิลีเองนั้น ภาพยนตร์ El Conde ก็ถือเป็นการตอกย้ำกับชาวชิลี ว่าแท้จริงแล้ว ผีดิบปิโนเชต์ยังไม่ตายไปไหน แต่ยังหลอกหลอนอยู่ในความคิดของคนชิลีอยู่ แม้แต่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลีเพื่อทดแทนรัฐธรรมนูญฉบับเก่าตั้งแต่สมัยปิโนเชต์ในปี 1980 ก็ยังต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายจากพรรคการเมืองฝั่งขวาและขวาจัดที่ยังคงให้การสนับสนุนระบอบปิโนเชต์ ทำให้รัฐบาลฝั่งซ้ายหัวก้าวหน้าของกาเบรียล บอริค (Gabriel Boric) ต้องถูกขัดขาในการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่พยายามจะแก้ไขผลกระทบจากนโยบายที่ระบอบปิโนเชต์เคยสร้างไว้ ไม่ต่างไปจากผีดิบที่ได้ฝังเขี้ยวเล็บลงลึกบนสังคมชิลี ยากที่จะถอนมันออกได้อย่างง่ายดาย คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานเพื่อสมานบาดแผลทางสังคมและเศรษฐกิจที่ท่านเคานท์ได้ก่อไว้ ชดใช้คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อผู้ถูกระบอบอำมหิตนี้กดขี่ และตอกฝาโลงเจ้าผีดิบปิโนเชต์ไปตลอดกาล
สองแม่ลูกแวมไพร์ (ภาพ : Netflix)
Trivial Fact: แอร์นัน ลาร์ราอิน (Hernan Larrain) และมักดาเลนา มัตเต (Magdalena Matta) นักการเมืองและนักกฎหมายของพรรค Independent Democratic Union พรรคการเมืองฝั่งขวาที่สนับสนุนระบอบปิโนเชต์ คือพ่อและแม่ของผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง El Conde !
อ้างอิง:
Chile and the Overcoming of Neoliberalism: Countering Authoritarianism and the Self-Regulated Market
https://www.theguardian.com/film/2023/aug/31/el-conde-review-pablo-larrain-chile-pinochet
https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/films/reviews/el-conde-netflix-review-pinochet-b2410554.html
https://www.thenation.com/article/world/chicago-boys-chile-neoliberalism/
https://www.france24.com/en/tv-shows/revisited/20230908-five-decades-on-chile-still-grapples-with-legacy-of-pinochet-dictatorship
https://apnews.com/article/chile-pinochet-dictatorship-5d500715f016804990d0898ff6d89907
https://www.opendemocracy.net/en/5050/chile-constitution-pinochet-chile-gabriel-boric-vote/
เนื้อหา ธนกาญจน์ ชารีรักษ์
พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน
ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์
Leave a Reply