Recap ศาลรัฐธรรมนูญ: วินิจฉัยเศรษฐาพ้นนายกฯ ประเทศไทยเอาไงต่อ

เพียงไม่กี่วันหลังจากพรรคก้าวไกลถูกยุบ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัย 5-4 เสียงให้ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ส่งผลให้เศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที นำไปสู่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแวดวงการเมืองไทยอีกครั้ง  เราจะพาไป recap กันว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างและจะพาไปดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยต่อจากนี้

Recap:

เมื่อวานนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 5-4 เสียงให้ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสินสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) ของรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เศรษฐาต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย หลังดำรงตำแหน่งได้ 358 วัน

คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่ถึงสัปดาห์หลังจากมีการวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกลจากการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 

เหตุการณ์ที่นำไปสู่จุดจบของรัฐบาลเศรษฐาในวันนี้คือการแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พิชิตเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาลจากการพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ของศาลเป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท ส่งผลให้ส.ว. 40 คนกล่าวหาว่าเศรษฐานำชื่อพิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลและคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งนี้พิชิตได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 23 วัน

ศาลวินิจฉัยกรณีดังกล่าวว่าการที่เศรษฐารับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพิชิตอยู่แล้วว่าไม่สมควรได้รับตำแหน่ง แต่ยังเสนอชื่อให้โปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรี เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังแสดงให้เห็นว่าเศรษฐา “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4)” และมีพฤติกรรม “ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)”

ในคำวินิจฉัยตอนหนึ่งของศาล ศาลกล่าวว่าข้อกล่าวอ้างของเศรษฐาที่ว่าตนมีภูมิหลังเกี่ยวกับธุรกิจและไม่มีประสบการณ์ด้านการเมืองหรือความรู้ด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์จึงไม่สามารถวินิจฉัยคุณสมบัติของพิชิตได้นั้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่ “รับฟังไม่ได้” เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และ “ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ”

เศรษฐาไม่ใช่นายกฯคนแรกที่ต้องพ้นจากตำแหน่งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ สมัคร สุนทรเวช เคยต้องพ้นจากตำแหน่งจากคดีรายการ “ชิมไปบ่นไป” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องหลุดจากสารบบการเมืองไทยหลังพรรคพลังประชาชนของเขาถูกยุบ และคนล่าสุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังถูกกล่าวหาว่าโยกย้ายตำแหน่งโดยมิชอบ 

คดีเหล่านี้รวมไปถึงการยุบพรรคการเมืองต่างๆที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในการเลือกตั้ง ถือเป็นภาพสะท้อนปรากฏการณ์ที่นักวิชาการเรียกว่า “ตุลาการธิปไตย” ที่ฝ่ายตุลาการมีอำนาจเหลือล้นและใช้กฎหมายแทรกแซงฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจนขาดการถ่วงดุลอำนาจ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการเมืองไทยในรอบเกือบ 20 ปีหลังที่ขาดเสถียรภาพจากการแทรกแซงของชนชั้นนำและกองทัพผ่านการรัฐประหารและการใช้กฎหมายกับกลไกศาล

ฉากถัดไปประเทศไทย

• คณะรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสินจะต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลถูกศาลวินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติ

• เศรษฐาจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตั้งแต่วานนี้เป็นต้นไป (14 สิงหาคม พ.ศ. 2567) และจะไม่สามารถเป็นนายกฯรักษาการได้ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรียังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไปได้ 

• ตำแหน่งนายกฯรักษาการจะตกเป็นของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1

• นายกฯรักษาการและครม. จะปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเลือกนายกฯคนใหม่ โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นัดประชุมในวันพรุ่งนี้ (16 สิงหาคม พ.ศ. 2567) เวลา 10.00 น.

• ส.ว. ชุดปัจจุบันที่พึ่งมีการเลือกตั้งกันไปในกติกาที่ “พิศดารที่สุดในโลก” จะไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ เหมือนกับส.ว.แต่งตั้ง 250 คนจากสมัยประยุทธ์

• ขณะนี้ผู้ที่ยังมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ มีทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริจากพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย  ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และจุรินทร์ ลักษณวิสิษฐ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ 

• ทั้งนี้ในขณะนี้ มีแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป โดยผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมหารือกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้าของทักษิณ ชินวัตร เพื่อหาแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เมื่อเย็นวานนี้

• อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวยังไม่ 100% หลังมีรายงานว่าส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่สนับสนุนแพทองธาร ชินวัตร แต่ยังคงให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ โดยบ่ายวันนี้จะมีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับแคนดิเดตนายกฯต่อไป

เนื้อหา สรธร ตระการกูล

พิสูจน์อักษร ภคพร ศิกษมัต

ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *