แก้ไขล่าสุด 19:25 น. 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
เมื่อวันที่ 18-22 ตุลาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์แห่งออสเตรเลีย ถือเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากทรงได้รับการวินิจฉัยว่าประชวรด้วยโรคมะเร็ง และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปีที่พระมหากษัตริย์ของอังกฤษเสด็จเยือนออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม กระแสตอบรับจากประชาชนก็ไม่ได้มีแต่ความปลื้มปิติหรือตื่นเต้นที่จะได้พบกษัตริย์ หากแต่ยังมีความรู้สึกหลากหลาย บ้างไม่สะทกสะท้าน บ้างก็ไม่พอใจ รวมไปถึงการเผชิญเสียงโจมตีว่า “You’re not my king” การเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าวได้จุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน ฯ กับสังคมออสเตรเลียอีกครั้ง ทั้งในเรื่องของบทบาทในการล่าอาณานิคมรวมไปถึงประเด็นการตั้งคำถามกันว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ออสเตรเลียจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) อย่างเป็นทางการ
สาธารณรัฐออสเตรเลีย?
ฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์มองว่าการเสด็จเยือนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงดั้นด้นมาไกลกว่า 16000 กิโลเมตรเพื่อมาเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ในขณะที่ยังทรงประชวร ส่วนฝ่ายสาธารณรัฐมองว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าออสเตรเลียไม่ได้จำเป็นต้องมีกษัตริย์ขนาดนั้น พวกเขาเชื่อว่าประมุขควรเป็น “คนออสเตรเลีย” และมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่กษัตริย์ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศด้วยซ้ำ และเรียกการเสด็จครั้งนี้ว่าเป็น “Farewell Oz tour” อีกด้วย
ปัจจุบันออสเตรเลียยังคงมีสถานะเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข (Commonwealth realms) เช่นเดียวกับอีก 14 ประเทศ เช่นแคนาดาและนิวซีแลนด์เป็นต้น ทว่าด้วยความที่ระยะทางห่างไกลกันมาก ออสเตรเลียจึงมี “ผู้สำเร็จราชการ” (Governor-General) ปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นผู้แทนพระองค์ในระดับประเทศ ในขณะที่รัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกัน ในแต่ละรัฐก็มีผู้ว่าการรัฐปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ประมุขของอังกฤษยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น “กษัตริย์/พระราชินีแห่งออสเตรเลีย” นั่นเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ออสเตรเลียเริ่มหล่อหลอมอัตลักษณ์เป็นของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนความผูกพันกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษค่อย ๆ ลดลง และแยกจากอังกฤษในที่สุด แน่นอนว่าประชากรส่วนใหญ่ยังคงผูกพันทางสายเลือดกับอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร แต่ถ้าให้เรียกตัวเองจริง ๆ แล้ว พวกเขาคือคนออสเตรเลีย
กระแสสาธารณรัฐในออสเตรเลียไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ในปี 1999 ได้มีการจัดลงประชามติในประเด็นดังกล่าวมาแล้ว แต่ต้องถูกตีตกไปเนื่องจากมีประชาชนไม่เห็นชอบกว่า 55 % นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย ประชามติจะผ่านได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงข้างมากสองขั้น (Double majority) คือต้องได้เสียงส่วนใหญ่ทั้งในระดับประเทศและใน 4 จาก 6 รัฐ ส่งผลให้มีประชามติที่ประสบความสำเร็จเพียง 8 ครั้งจาก 45 ครั้ง อย่างไรก็ตามในปี 2022 แอนโทนี่ อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้ประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะจัดการลงประชามติในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการพับแผนดังกล่าว นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติแล้วการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม คิงชาร์ลส์ทรงมีพระราชปรารภถึงประเด็นดังกล่าวว่าเป็นประเด็นที่ประชาชนออสเตรเลียจะเป็นผู้ตัดสินใจ และสื่อเป็นนัยว่าพระองค์จะไม่ขัดขวางหากออสเตรเลียไม่ต้องการพระองค์อีกต่อไป
ผลโพลล์ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วเปิดเผยว่าประชาชน 42% ต้องการให้ออสเตรเลียเป็นสาธารณรัฐ ส่วนอีก 35% ต้องการให้อยู่ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนในปัจจุบันต่อไป ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงพิธีราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ตัวเลขยังสูงถึง 60%
บาดแผลของชนพื้นเมืองออสเตรเลียกับราชวงศ์อังกฤษ
ระหว่างที่คิงชาร์ลส์ทรงมีพระราชดำรัสต่อสมาชิกรัฐสภาในกรุงแคนเบอร์รา Lidia Thorpe สว.ชนพื้นเมืองออสเตรเลียได้ตะโกนประท้วงพระองค์ว่า “ที่นี่ไม่ใช่แผ่นดินของท่าน ท่านไม่ใช่กษัตริย์ของฉัน” และเรียกร้องให้พระองค์ “คืนทุกอย่างที่ท่านขโมยไปจากเรา” จนโดนเชิญออกจากที่ประชุมและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมออสเตรเลียและนำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าวคือเรื่องบทบาทของกษัตริย์อังกฤษในอดีตกับการล่าอาณานิคมในออสเตรเลียที่คร่าชีวิตชนพื้นเมืองออสเตรเลีย หรือที่เราเรียกกันว่าชาวอะบอริจิน1 เป็นจำนวนมากและส่งผลกระทบแง่ลบมาจนถึงปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าประเด็นนี้เป็นประเด็น sensitive ก็ไม่ผิดนัก
สำหรับชนพื้นเมืองแล้ว พวกเขามองว่าตนคือเจ้าของดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้มานับ 60000 ปี และประวัติศาสตร์ของที่นี่ก็มีมายาวนานนับตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ใช่พึ่งมาเริ่มต้นขึ้นในสมัยที่ชาวยุโรปเข้ามาเมื่อ 200-300 ปีก่อน พวกเขายังได้กล่าวหาว่าอังกฤษได้เข้ามาขโมยดินแดนและอธิปไตยที่เป็นของพวกเขามาตั้งแต่ดั้งเดิมและยังทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความอยุติธรรมอย่างเป็นระบบ
นับตั้งแต่มีการตั้งอาณานิคมบนแผ่นดินออสเตรเลีย ชนพื้นเมืองออสเตรเลียเป็นจำนวนมากกว่า 20,000 คนต้องถูกสังหารหรือถูกชาวอาณานิคมไล่ที่ไปอยู่ในนอกแนวเขตที่พวกเขาปักไว้เพื่อกีดกัน นอกจากนี้ยังมีประวัติศาสตร์การต่อสู้และสังหารเหล่าชนพื้นเมืองอย่างทารุณโหดร้ายจนนักวิชาการหลายคนในยุคปัจจุบันมองว่าเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียยังได้มีการบังคับกลืนอัตลักษณ์ภายใต้นโยบาย “ออสเตรเลียขาว” (White Australia) ที่ส่งผลให้เด็กชนพื้นเมืองเป็นจำนวนมากต้องถูกพรากจากครอบครัวไปอยู่กับครอบครัวอุปการะที่มักจะเป็นคนผิวขาว ซ้ำยังถูกห้ามพูดภาษาของตนอีกด้วย นำไปสู่คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็นคน “รุ่นที่ถูกขโมย” (Stolen generation) กว่าที่ชนพื้นเมืองออสเตรเลียจะได้มีสิทธิ์ในฐานะพลเมืองออสเตรเลีย ก็ปาไปถึงปี 1967 หรือร่วม ๆ 200 ปีนับตั้งแต่การมาถึงของชาวยุโรปเลยทีเดียว ถึงกระนั้นนโยบายนี้เองก็ยังส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันจากการที่ชนพื้นเมืองออสเตรเลียเป็นจำนวนมากต้องตกอยู่ในความยากจน ขาดการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่าง ๆ และขาดการศึกษา จึงมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นกว่า มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมและถูกจำคุกสูง และมีโอกาสที่จะหันไปพึ่งพาสารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่ากลุ่มอื่น
แน่นอนว่าราชวงศ์อังกฤษอาจไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการล่าอาณานิคมโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเลวร้ายหลายอย่างเกิดขึ้นในนามของราชวงศ์ ดังนั้นสำหรับชนพื้นเมืองออสเตรเลียแล้ว การเรียกร้องให้กษัตริย์อังกฤษออกมาขอโทษจึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อยอมรับว่าเคยมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในอดีตและเป็นจุดตั้งต้นสำหรับการเยียวยาบาดแผลต่าง ๆ
สิ่งที่ชนพื้นเมืองต้องการมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือสนธิสัญญาระหว่างราชวงศ์อังกฤษและชนพื้นเมืองเพื่อให้อธิปไตยนั้นตกเป็นของออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในแคนาดาและนิวซีแลนด์ เพื่อเยียวยาบาดแผลในอดีตและก้าวต่อไปร่วมกัน ตามที่ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ชี้แจงของ Thorpe ได้กล่าวว่า “ในฐานะชนพื้นเมือง เราไม่เคยสละอธิปไตยเหนือแผ่นดินของเรา ราชสำนักได้มายึดครองแผ่นดินนี้ ไม่ทำสนธิสัญญากับชนพื้นเมืองและยังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนของเรา คิงชาร์ลส์มิใช่ประมุขอันชอบธรรมของดินแดนแห่งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ ความอยุติธรรมนี้จะต้องไม่ดำเนินต่อไปอีก”
ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้วได้มีการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการรับรองชนพื้นเมืองออสเตรเลียอย่างเป็นทางการผ่านการตั้งคณะที่ปรึกษารัฐสภา (Voice of Parliament) อย่างไรก็ตามประชาชนออสเตรเลียกว่า 60% ได้ลงมติไม่เห็นด้วย ทำให้ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน
- อันที่จริงคำว่า “อะบอริจิน” (Aborigine) ในปัจจุบันไม่เป็นที่ยอมรับมากนักและมีความหมายไปในทางลบ เนื่องจากมีนัยถึงการเหยียดเชื้อชาติจากสมัยล่าอาณานิคม คำสุภาพที่ควรใช้ในภาษาอังกฤษมักจะเป็นคำว่า “Aboriginal person” (เอกพจน์) หรือ “Aboriginal peoples” (เรียกรวมๆ)
แหล่งอ้างอิง
https://www.bbc.com/news/articles/cly3e3yxw4vo
https://www.bbc.com/news/world-australia-67916228
https://www.nationalgeographic.com/culture/article/aboriginal-australians
Leave a Reply