On This Day: 2 พฤศจิกายน 2561 ยกเลิกดาว เดือน ดาวเทียม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ครั้งหนึ่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็เคยมีดาว เดือน ดาวเทียม มาก่อน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้ถูกยกเลิกลงไปด้วยประชามติของนิสิตชั้นปี 1 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ในคาบเรียนรายวิชา LOG REAS SOC INQY ท่ามกลางการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่เห็นชอบให้คงอยู่และฝ่ายเสนอให้ยกเลิก

การจัดประกวดดาว เดือน ดาวเทียม คณะรัฐศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องในทุกปีการศึกษา โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันรับน้องใหม่ใส่ใจสังคม (Freshy Day & Freshy Night) ที่เป็นกิจกรรมการต้อนรับนิสิตใหม่อีกรูปแบบ โดยในส่วนของ Freshy Day ประกอบด้วย กิจกรรมสรุปบทเรียนที่ให้นิสิตได้แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกัน กิจกรรมเสวนาโดยนิสิตเก่า กิจกรรมลอดถ้ำสิงห์1 พิธีมอบเข็มสิงห์ และในส่วนของ Freshy Night ประกอบด้วย กิจกรรมจัดเลี้ยง การแสดงดนตรีของนิสิต และกิจกรรมการจัดประกวดดาว เดือน ดาวเทียม2 กิจกรรม Freshy Day & Freshy Night ได้ถูกยกเลิกลงโดยมติคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 4 / 2561 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 25613 เพื่อรวมกิจกรรม Freshy Day เข้ากับโครงการต้อนรับนิสิตใหม่สิงห์ดำ รุ่น 71 (ค่ายนี่นักฯ) แต่คงกิจกรรมการจัดประกวดดาว เดือน ดาวเทียมแยกไว้เป็นอีกกิจกรรม

แนวทางการจัดประกวดดาว เดือน ดาวเทียม นั้นประกอบด้วย การประกวดดาว-เดือน 5 คู่ โดยให้นิสิตใหม่ที่ได้รับการเสนอชื่อกันเอง จับสลากคู่และจับสลากเมนเทอร์ (ที่ปรึกษาที่เป็นนิสิตชั้นปีอื่น) และการประกวดดาวเทียมจัดเป็นการประกวดเดี่ยว คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ได้มีมติในการประชุมฯ สมัยสามัญ ครั้งที่ 5 / 2561 เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 25614 ให้จัดกิจกรรมนี้ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 โดยหัวหน้าฝ่ายวิจิตรศิลป์มีข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนการใช้คำว่าดาวเทียม เพื่อป้องกันการสร้างความไม่พอใจและกระทบผู้อื่น

เมื่อคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ได้มีมติข้างต้นแล้ว กลุ่มนิสิตต่าง ๆ ก็ได้เริ่มเคลื่อนไหว โดยฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิกได้มีการหารือกับนายกสโมสรฯ พร้อมกับยื่นจดหมายฉบับหนึ่งที่ขอให้ยกเลิกการจัดประกวดฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า กิจกรรมได้มีการยกให้คนบางคนเหนือกว่าผู้อื่น และการใช้คำว่า “ดาวเทียม” ซึ่งถือเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้ได้รับตำแหน่งดังกล่าวให้ด้อยกว่า “ดาว” โดยนิสิตกลุ่มนี้ได้เสนอให้เปลี่ยนไปจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การจัดประกวดความสามารถหลากหลายรูปแบบ หรือกิจกรรมเวิร์กช็อปที่สอดแทรกสันทนาการเข้าด้วย เป็นต้น5

นอกจากข้อกังวลตามจดหมายของนิสิตกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อกังวลอื่น ๆ อีก เช่น การจำกัดเพศในการประกวดดาว-เดือนที่มาในแง่ภาษาที่มักมีการสื่อถึงเพศผ่านวรรณกรรมต่าง ๆ6, ข้อกังวลเกี่ยวกับการประกวดดาวเทียมที่แม้ปีที่ผ่าน ๆ มานั้นกำหนดเงื่อนไขเพียงแค่เป็นผู้ที่ตลก แต่ในการประชาสัมพันธ์ปีที่ผ่าน ๆ มานั้นมีการนำภาพนิสิตชมรมฟุตบอลไม่ใส่เสื้อมาห้อมล้อมดาวเทียมคณะ และมีการทำท่าทีคล้ายการล้วงอวัยวะเพศกันด้วย ทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตำแหน่งดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ

หลังสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ได้รับหนังสือขอให้ยกเลิกจากนิสิตกลุ่มดังกล่าว และพบว่าเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม อุปนายกฝ่ายกิจการภายในและประธานฝ่ายนิสิตสัมพันธ์จึงได้ปรึกษากับรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต และสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์จึงได้มีมติในการประชุมฯ สมัยสามัญ ครั้งที่ 6 / 2561 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 25617 ให้มีการออกเสียงประชามติในหัวข้อ “คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ควรยกเลิกตำแหน่งดาว เดือน และดาวเทียมหรือไม่” ในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การออกเสียงประชามติปรากฏผลว่า นิสิตผู้ออกเสียงประชามติโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้ยกเลิกตำแหน่งดาว เดือน และดาวเทียม โดยมีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 260 จากนิสิตทั้งหมด 288 คน คิดเป็นร้อยละ 90.28 นิสิต 142 คน หรือ ร้อยละ 54.62 ของผู้มาใช้สิทธิ เห็นว่าควรยกเลิกตำแหน่งดาว เดือน และดาวเทียม นิสิต 113 คน หรือ ร้อยละ 43.46 ของผู้มาใช้สิทธิ เห็นว่าไม่ควรยกเลิกตำแหน่งดาว เดือน และดาวเทียม นิสิต 5 คน หรือ ร้อยละ 1.92 ของผู้มาใช้สิทธิ เป็นบัตรเสีย8

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา การจัดประกวดดาว เดือน ดาวเทียม ได้ยกเลิกไปจากคณะรัฐศาสตร์อย่างสมบูรณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยน ยกเลิกกิจกรรมที่ล้าสมัย เพื่อนำไปสู่การริเริ่มกิจกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์และพิสูจน์ให้เห็นว่ากิจกรรมทางวิชาการสามารถผสมกลมกลืนกับการสันทนาการและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในหมู่นิสิตรัฐศาสตร์ได้ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคม ดั่งคำขวัญคณะที่ว่า “ก้าวแรกสู่คณะรัฐศาสตร์ ก้าวต่อไปสู่การเสียสละเพื่อส่วนรวม”

เนื้อหา: อัฐณัฏฐ์ เต็มสุวรรณพานิช

ภาพ: ธนกาญจน์ ชารีรักษ์

ขอบคุณภาพจาก สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


  1. กิจกรรมลอดถ้ำสิงห์ คือ กิจกรรมที่ให้นิสิตใหม่ยืนเรียงกันหน้าอาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ (ตึก 1) แล้วทำการประกาศศักดิ์ (คล้ายการ “บูม”) จำนวนรอบตามเลขรุ่น (สำหรับรุ่น 71 ได้ปรับลดเหลือเพียง 3 รอบ) จากนั้นทำการโปรยใบจามจุรี และถ่ายภาพรวม
  2. แผนการจัดโครงการสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560
  3. รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยสามัญ ครั้งที่ 4 / 2561 วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุมสีหราช ชั้น M อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี)
  4. รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยสามัญ ครั้งที่ 5 / 2561 วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุมสีหราช ชั้น M อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี)
  5. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, การศึกษาของนิสิตเลว: 5 ปีในรั้วจุฬาฯ (กรุงเทพฯ: สำนักนิสิตสามย่าน, 2565), 250-252.
  6. Nisit Review, “ทำไมจึงควรยกเลิกการประกวด ‘ดาว เดือน ดาวเทียม’,” เฟซบุ๊ก, 30 ตุลาคม 2561, https://www.facebook.com/100068967882629/posts/723870214657534/?rdid=hxvBHBBSvRnYvQBc.
  7. รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยสามัญ ครั้งที่ 6 / 2561 วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุมสีหราช ชั้น M อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี)
  8. สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, “ผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการ,” เฟซบุ๊ก, 2 พฤศจิกายน 2561, https://www.facebook.com/125449624319292/posts/pfbid02UvvrM9CPxLnzNvtuJAjqYWrzRWM1589jb1dmqC5bUiNYFXtEf5Gd4oiE5pnPg7Ywl/?.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *