ช่วงปลายเดือนกรกฏาที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอบริษัท เทสลา (Tesla) และอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ได้สร้างปรากฏการณเสียงแตกในโลกออนไลน์ด้วยการเผยโฉมโลโก้ “X” ซึ่งจะมาแทนที่โลโก้นกสีฟ้าเดิมของทวิตเตอร์ การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ต่างพากันรัวความคิดเห็นของตัวเองผ่านกล่องข้อความ 280 ตัวอักษรเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ปรากฏให้เห็นได้บ่อยครั้งมากขึ้นหลังจากที่อีลอนเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 44 พันล้านดอลลาร์หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา
อีลอนเปิดเผยเหตุผลของการรีแบรนดิ้งครั้งนี้ว่า “การเปลี่ยนโลโก้ของทวิตเตอร์จากเดิมทีที่เป็นตัวการ์ตูนนกสีฟ้าให้กลายเป็นตัวอักษร “X” ที่มีทั้งสีขาวและสีดำในโลโก้ ก็เพราะว่าพยัญชนะ “X” สื่อถึง “ความไม่สมบูรณ์แบบ (imperfection) ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์”
ด้านเสียงสะท้อนในโลกออนไลน์เสนอว่าความหมายของตัวอักษร “X” มีความยึดโยงถึงนวัตกรรมและความก้าวหน้า บ้างก็ว่าตัวแปร “X” ในสมการทางคณิตศาสตร์สามารถเป็นตัวเลขทุกตัวที่สามารถที่เราจะจินตนาการได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความหมายจะซื่อตรงตามนั้นหรือไม่ แต่สิ่งที่อุบัติขึ้นแล้วก็ คือ การเปิดเผยซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงของปฏิบัติการหลังม่าน การรีแบรนดิ้งคร้ังนี้คือการขีดฆ่าภาพจำเดิมๆที่ยึดโยงอยู่กับทวิตเตอร์ และสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘X’ ขึ้นมาแทน’
นอกเหนือจากการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของทวิตเตอร์แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเบื้องหลังอื่นๆอีกด้วย เช่น การเปลี่ยนถ่ายทวิตเตอร์เดิมสู่การเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่มนุษย์จะจินตนาการถึง
โดยอีลอนพยายามจะอำนวยความสะดวกต่อการสื่อสารหลายทางมากขึ้นด้วยการเพิ่มความเสถียรภาพให้กับแพลตฟอร์ม ในแง่ของความปลอดภัยของชุมชนโดยให้มีการยืนยันตัวตน ตลอดจนความสามารถในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางเดียวกัน เช่น Premium ทั้งนี้ก็เพื่อค่อยๆประกอบจิกซอว์ความฝันที่เขาวาดไว้ให้เป็นจริง นั่นก็คือการสร้างแอปพลิเคชั่นที่ครบจบในที่เดียว (everything app) และเป็นธุรกิจมากขึ้น
ความรู้สึกของคนในชุมชนที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากการเปลี่ยนโลโก้ คือ ความไม่คุ้นหูชินตา ประโยคที่จะได้เห็นกันบ่อยๆ ก็คือ
“หาแอพไม่เจอ”
“เหมือนเว็บหนังผู้ใหญ่”
ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากความรู้สึกกลัวในหลายๆทาง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็มีเพียงสถานีปลายทางเดียว คือ ความกลัวที่จะต้องปรับตัวเข้ากับผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงใหม่ซึ่งไม่รู้จะชี้หัวชี้ก้อย ออกมาดีหรือแย่ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร การผ่อนกฎการเซนเซอร์เนื้อหา รวมไปถึงประสบการณ์ผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป
การพัฒนาที่ไม่ตอบสนองกับผู้ใช้งานข้างต้นนำไปสู่ข้อร้องเรียนจากชาวชุมชนซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย นั่นก็คือ ความต้องการไม่ให้ “X” มีความเป็นอื่นไปมากกว่านี้
จากกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นมีลักษณะเด่นประการหนึ่งของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ดังนั้นความเชื่อมโยงของอุดมการณ์ฝ่ายขวาและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถสะท้อนซึ่งกันและกันได้ดังนี้
อุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมหมายถึงปรัชญาทางการเมืองที่ส่งเสริมระบบสถาบันที่มีมาแต่เดิมในบริบทวัฒนธรรมและอารยธรรมโดยมองความไม่เท่าเทียมของสังคมว่าเป็นกลไกของธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนถ่ายไปสู่สิ่งใหม่ที่กำลังจะมาถึง ชุมชนฝ่ายขวาจะผุดคำถามต่อกระบวนการดังกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างผลดีมากกว่าของเดิมหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การยกประเด็นความจำเป็นของชุดนักเรียน สิ่งที่เกิดตามมาคือ จะเกิดฝ่ายที่คล้อยตามว่าไม่ควรมีต่อไปและฝ่ายที่เห็นว่าชุดนักเรียนยังจำเป็น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยว่าชุดนักเรียนมีความจำเป็นหรือฝ่ายที่ต่อต้านการรีแบรนดิ่งจากทวิตเตอร์สู่เอ็กซ์ ก็สามารถกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั่นเอง
แต่ช้าก่อนอานนท์ทุกแรงเสียดทานต่อการเปลี่ยนแปลงจัดเป็น conservativism ไหม? คำตอบ คือ ใช่ในทางทฤษฎี แต่ทางปฏิบัติแล้วเราต้องเข้าใจก่อนว่าพื้นฐานทางการเมืองของคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้มีทิศทางซ้ายจัดหรือขวาจัดหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่เป็นศรัทธาพื้นฐานที่ปัจเจกบุคคลยึดถือเพียงเท่านั้น ดังนั้นความคิดเห็นที่คล้อยตามกับประเด็นใดก็ตามนั้นล้วนเป็นการตัดสินใจของตัวปัจเจกเองทั้งสิ้น (per se) เราทุกคนในสังคมประชาธิปไตยจึงควรเคารพการตัดสินใจดังกล่าวอย่างไม่ตัดสิน
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกคลอนแคลนต่อการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพียงคุณลักษณะนิสัยหนึ่งของอุดมการณ์ฝ่ายขวาเท่านั้น การสะท้อนดังกล่าวเพียงแค่เพิ่มความสามารถในการรับรู้ให้ที่กว้างขึ้นให้กับชุมชนทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีคนที่เห็นเหมือนหรือต่างใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยบนพื้นฐานของเหตุผลเพื่อนำประโยชน์สู่สังคมส่วนรวมซึ่งเป็นหัวใจหลักของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เนื้อหา ธีรพัฒน์ กาบคำ
พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน
ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์
Leave a Reply