สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศขอยกเลิกการใช้คำนำหน้า (นาย/นางสาว) ในเอกสารภายในทุกหน่วยงานของสโมสรนิสิตฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 หลังนายกสโมสรฯ ได้ลงนามในประกาศสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อตกลงการทำงานร่วมกัน สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยข้อ 4 ได้บัญญัติว่า “ให้ยกเลิกการใช้คํานําหน้า ได้แก่ นาย หรือ นางสาว ในเอกสารภายในสโมสรนิสิตฯ”
ประกาศฉบับดังกล่าวได้สืบเนื่องมาจากมติในการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 / 2565 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565
ก่อนหน้านั้น 8 วัน คือ วันที่ 4 มิถุนายน 2565 ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ (กกบ.) ครั้งแรก ผ่านระบบ Video Conference (ZOOM) ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้เปิดให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ระดับปริญญาตรีทุกคน สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมผ่าน Google Forms โดยระเบียบวาระที่ 5.1 ของการประชุมดังกล่าว คือ ข้อตกลงการทำงานร่วมกัน แต่การประชุมค่อนข้างมีความยืดเยื้อ นายกสโมสรฯ จึงให้เสนอข้อตกลงใน Google Docs และลงมติในการประชุมครั้งต่อไป
วันที่ 6 มิถุนายน 2565 สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้มีการเผยแพร่โพสต์ขอยกเลิกการใช้คำนำหน้าผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางของสโมสรฯ
จากนั้นวันที่ 12 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ (กกบ.) จึงได้ลงมติในที่ประชุม เห็นชอบให้ใช้แนวทางการทำงานร่วมกันตามที่ได้เสนอไว้ใน Google Docs และนายกสโมสรฯ ได้ทำการลงนามในประกาศดังกล่าว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป หลังการประกาศ เอกสารภายในของสโมสรฯ ทั้งหมด เช่น รายงานการประชุม, Contact List เป็นต้น ล้วนไม่มีการใส่คำนำหน้า คงไว้เพียงแต่กรณีเอกสารภายนอกที่จำเป็นเท่านั้น
การยกเลิกการใช้คำนำหน้า ได้แก่ นาย หรือ นางสาว เป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยแนวคิดแบบ Gender Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางเพศ กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่ไม่แบ่งแยกผู้คนด้วยเพียงเพศกำเนิด เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ทุกคน เช่น งานแบกหามไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีเพศกำเนิดชายเท่านั้น แต่คำนึงจากโครงสร้างร่างกายและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแทน, การจัดแบ่งห้องนอนเป็นไปตามความสบายใจแทนการจัดแบ่งตามเพศกำเนิด เป็นต้น
นอกจากนั้น แนวคิด Gender Neutrality นี้ยังเป็นการส่งเสริมสิทธิกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) อีกด้วย เช่น สตรีข้ามเพศ (Trans woman) ไม่จำเป็นต้องระบุคำนำหน้า “นาย”” เป็นต้น
การยกเลิกการใช้คำนำหน้าในครั้งนี้ แม้จะดำเนินการผ่านการออกประกาศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ยังคงยึดถือหลักการในข้อดังกล่าวเสมอมา แม้จะมีหลงลืมไปบ้าง กระนั้นโดยรวมยังคงสามารถรักษาธรรมเนียมไว้ได้ตลอดมา
Leave a Reply