รักสีเลือดครั้งที่ 4 ของเจียงชิงและเหมาเจ๋อตง

จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าด้วยการเมืองนั้นจะสามารถมาบรรจบพบเจอกับความรักได้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าด้วยความรักนั้นจะนำพาไปสู่หายนะและการนองเลือดครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ นั่นก็คือกลเกมรัก (สีเลือด) และการเมือง ของเจียงชิงและเหมา เจ๋อตง

เจียงชิง (Jiang Qing) หรือที่มักได้รับการขนานนามว่า “มาดามเหมา” ภรรยาคนที่ 4 ของเหมา เจ๋อตง เธอเผชิญกับวัยเด็กที่ขมขื่นด้วยชีวิตความเป็นอยู่และครอบครัวที่ไม่สุขสมบูรณ์ เจียงชิงมีนิสัยที่หาญกล้าแต่แข็งทื่อ อดทนแต่หยิ่งยโส อิสระเสรีแต่ใจแคบ ร่าเริงแต่เอาใจยาก ทะเยอทะยานแต่พยาบาทและอาฆาตแค้น ท่ามกลางนิสัยที่สลับซับซ้อนไม่มีใครคาดเดาได้ เธอโดดเด่นและสวยงามบนเวทีนับตั้งแต่เธอเข้าร่วมโรงละครการแสดงเมื่อครั้งอายุได้ 7 ปี

เธอย้ายข้าวของออกจากเมืองชิงเต่า (Qingdao) มายังเซี่ยงไฮ้ ที่ซึ่งเต็มไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรมย่อยมากมาย การแสดงตัวละคร “โนรา” จากเรื่อง “A Doll’s House” ทำให้เจียงชิงเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงอาชีพ และในขณะเดียวกัน หลังเธอเริ่มมีสัมพันธ์กับคู่สมรสที่มีความคิดสนับสนุนคอมมิวนิสต์ และการพบกับ กัง เช็ง (Kang Sheng) ผู้นำคอมมิวนิสต์ยุกบุกเบิกขณะที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในเซี่ยงไฮ้นั้น ทำให้เธอเริ่มมีอุดมการณ์ฝั่งซ้ายไปโดยปริยาย

หลังการรุกรานและเข้ายึดครองเซี่ยงไฮ้โดยกองทัพญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1937 เจียงชิงอพยพย้ายไปอยู่เมืองหยานอาน (Yan’an) ที่ซึ่งเหมา เจ๋อตง ตั้งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ที่นั่น ขณะเหมากำลังกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณชน เจียงชิงตั้งใจนั่งอยู่แถวหน้าสุดและมีอารมณ์ร่วมกับคำปราศรัยของเขา ทำให้เหมาลุ่มหลงกับ “นักแสดงสาวที่น่าดึงดูด” ในท้ายที่สุด ทั้งสองจะต้องผ่านขวากหนามจากความไม่เห็นด้วยของบรรดาผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ อันเนื่องมาจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าภรรยาคนปัจจุบันที่เหมาหย่าร้าง “เหอ จื่อเจิน” (He Zizhen) นั้นยังคงรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลในมอสโก รวมถึงข้อสงสัยว่าเจียงชิงอาจจะเป็นสายลับล้วงข้อมูลที่เจียง ไคเชก ส่งมา แต่ผลสุดท้ายพวกเขาก็ได้รับคำยินยอมให้สมรสกันใน ค.ศ. 1938 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเจียงชิงจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นระยะเวลา 20 ปี

โดยก่อนหน้าที่ทั้งเจียงชิงและเหมาเจ๋อตงจะได้พบรักกัน ทั้งสองต่างเคยสมรสกับคู่รักคนอื่นมาแล้ว 3 ครั้งด้วยกัน การสมรสครั้งนี้จึงถือเป็นรักครั้งที่ 4 ของทั้งคู่ อย่างไรก็ดี รักระหว่าง “เหมา” และ “มาดามเหมา” จะเปลี่ยนฉากทัศน์ทางการเมืองของจีนนับต่อจากนี้ เป็นต้นว่ามีผู้เสนอว่ามุมมองด้านวัฒนธรรมของเหมานั้นได้รับอิทธิพลหรือถูกกระตุ้นโดยเจียงชิง ซึ่งต่อมาจะนำไปสู่ชะตากรรมของวัฒนธรรมจีนในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ค.ศ. 1966–76 อาทิ การเติมแต่งและดัดแปลงบทละครเวทีเรื่อง “ชาเจียปาง” (Shajiabang) ของเจียงชิง ซึ่งเธอใส่ตัวละครนายทหารที่มีแนวคิดแบบเหมาเข้าไปด้วย รวมถึงความพยายามลบล้างร่องรอยอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกออกจากบทพูดแสดง เช่นเดียวกันกับการแสดงละครเวทีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้กล่าวถึงซึ่งถูกทำให้ถูกต้องตามการเมือง (political correctness) อย่างการทำให้ตัวเอกไม่เป็นภาพแทนของชนชั้นสูงแต่เป็นปุถุชนคนธรรมดา

ความยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และความรักที่มีต่อเจียงชิงของเหมา เจ๋อตง ทำให้เธอกลายเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของกลุ่มปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution Group) อาชีพนักแสดงเดิมที่เธอเคยเป็นในวัยเยาว์ ทำให้เธอสามารถปลุกระดมเรียกขวัญยุวชนแดง (Red Guards) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเส้นทางสู่ผู้ทรงอำนาจคนหนึ่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา เจียงชิงได้รับความไว้วางใจจากเหมาให้รับเรื่องและแก้ไขปัญหาวันต่อวันของพรรคแม้เขาจะเป็นผู้นำโดยตำแหน่ง ชนชั้นกระฎุมพี นายทุน หรือพวกที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเหมาตกเป็นเป้าของการถูกลอบทำร้ายหรือฆ่า การทารุณและความรุนแรงอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นนี้สิ้นสุดลงในช่วง ค.ศ. 1968 สงครามกลางเมืองนองเลือดระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านเหมา เจ๋อตง ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนนับไม่ถ้วน ที่ถึงแม้แต่เหมาเองก็ไม่ได้รู้สึกดีนักกับการนำของเจียงชิงในครั้งนี้

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1971 เหมาสั่งให้มีการจัดตั้งองค์กรโฆษณาชวนเชื่อกลาง (Central Organization and Propaganda Leading Group) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมอุดมการณ์และความคิดของพลเมืองจีน รวมถึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการส่งเสริมภาพลักษณ์ “การให้สตรีขึ้นมาเป็นผู้นำ” ผ่านโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ โดยสตรีที่กล่าวข้างต้นนั้นก็หมายถึงเจียงชิงนั่นเอง อย่างไรก็ดี เหมาไม่ได้ชอบแนวคิดของการตั้งพรรคเล่นพวกของเจียงชิงในนาม “แก๊งสี่คน” สักเท่าไหร่ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1974 เขาเตือนเจียงชิงอย่างตรงไปตรงมาว่า “อย่าตั้งพรรคพวก ใครก็ตามที่ทำเช่นนั้นย่อมร่วงลงตกคล้อยลงมา” กระนั้นเธอยังคงพยายามรณรงค์และให้ภาพลักษณ์ส่งเสริมในฐานะผู้สืบทอดอำนาจของเหมา เจ๋อตง

ความสัมพันธ์รักของทั้งสองเริ่มห่างเหินด้วยอุณหภูมิเกมการเมือง ไม่นานก่อนการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง ในค.ศ. 1976 เจียงชิงเคยกล่าวว่า “บุรุษจำต้องสละราชบัลลังก์ให้แก่สตรีสานต่อ แม้ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ ก็ยังมีจักรพรรดินีได้” (“The man must abdicate and let the woman take over… Even under Communism, there can still be an empress.”) แหล่งข้อมูลหลายแหล่งระบุว่าอิทธิพลทางการเมืองของเจียงชิงพุ่งทยานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่เหมา เจ๋อตงนอนซมอยู่ แต่อำนาจนั้นจะคงอยู่ได้ไม่นานดั่งกับที่เหมาเคยทักตักเตือน

ฮฺว่า กั๋วเฟิง ประธานพรรคคอมนิวนิสต์จีนคนถัดมาที่เหมา เจ๋อตงเป็นผู้ยกตำแหน่งให้สืบทอด ซึ่งอาจเป็นเพราะเหมามองว่าเขาเป็นผู้ที่สามารถประนีประนอมระหว่างการเมืองฝ่ายซ้าย (นำโดยแก๊งสี่คน) และฝ่ายขวา (นำโดยเติ้ง เสี่ยวผิง) ได้ หากแต่ว่าฮฺว่าหันมาเลือกข้างฝ่ายขวาแทนและอนุมัติการจับกุมแก๊งสี่คนซึ่งมีเจียงชิงรวมอยู่ด้วย ส่งผลให้ฉากทัศน์ทางการเมืองจีนได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

อิทธิพลของเจียงชิงในฐานะหนึ่งในสมาชิกแก๊งสี่คนถูกลดทอนด้วยการเปิดม่านการพิจารณาคดีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1980 อัยการกล่าวโทษเจียงชิงว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่เกี่ยวพันกับการลอบฆาตกรรม (persecution) หลิว เช่าฉี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้ข้อสันนิษฐานว่าหลิวมีท่าทีคัดค้านการดำเนินนโยบายของเหมา เจ๋อตง และถูกเรียกโดยกลุ่มยุวชนแดงว่าเป็นพวกทรยศหักหลัง เจียงชิงโต้ว่าเธอเป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนและทำตามคำสั่งของเหมาเท่านั้น หลังความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการพิจารณาคดี เจียงชิงถูกนำตัวออกจากศาลพร้อมตะโกนซ้ำไปซ้ำมาว่า “ฉันเป็นแค่หมารับใช้ของเหมา ท่านประธานสั่งให้กัดใคร ฉันก็กัด”

หนึ่งปีให้หลัง เจียงชิงได้รับโทษประหารชีวิตโดยให้รอรับโทษสองปี ก่อนจะได้รับอภัยโทษลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้ เจียงชิงผูกคอเสียชีวิตในห้องน้ำโรงพยาบาลหลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเพื่อเข้ารับการรักษาตัวใน ค.ศ. 1992

บาดแผล รอยร้าว และมรดกของเธอยังคงคลุกกลิ่นพอให้เห็นภาพจาง ๆ ของการเมืองในจีนจวบจนถึงปัจจุบัน อันเกิดขึ้นจากความรัก (ในอุดมการณ์) ของทั้งเหมา เจ๋อตง เจ้าของหมา และมาดามเหมา หมารับใช้ผู้จงรักภักดี

ที่มา

Linda Longley. (1996). Jiang Qing and Cultural Revolution. UNLV Retrospective Theses & Dissertations

https://www.britannica.com/biography/Jiang-Qing

http://law2.umkc.edu/faculty/projects/ftrials/gangoffour/Gangof4.html

เนื้อหา ภคภณ ประดิษฐกุล

พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน

ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *