ระเบิดปรมาณูจบสงคราม

posted in: วัฒนธรรม | 0

แสงไฟวาบ เมฆรูปดอกเห็ด เสียงระเบิดดังสนั่นที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ทำให้สงครามที่ขึ้นชื่อว่านองเลือดที่สุดนับตั้งแต่การมีอยู่ของมนุษย์อย่าง “สงครามโลกครั้งที่สอง” สิ้นสุดลง อาวุธสงครามที่ไม่เคยมีชาติใดสามารถสร้างได้สำเร็จอย่างระเบิดปรมาณูตกอยู่ในมือของสหรัฐโดยการวิจัยของเหล่านักวิทยาศาสตร์หัวกะทิทั่วประเทศ คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือจะใช้มันกับใคร และอย่างไร ขณะที่ชาวญี่ปุ่นกว่า 150,000 คน ไม่มีโอกาสที่จะรู้ชะตาชีวิตข้างหน้าว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับความโหดร้ายเพียงใด

.

ในญี่ปุ่น ภายใต้การนำของสภาสงครามซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนายทหารผู้ยืนหยัดที่จะต่อสู้จนตัวตายเพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นถึงการมีอยู่ของจักรวรรดิและจิตวิญญาณของทหารอันแรงกล้าแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย แม้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้ทรงเข้าแทรกแซงสถานการณ์โดยการประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อฝ่ายสัมพันธมิตร แต่มันก็สายไปเสียแล้วเมื่อสหรัฐได้ทิ้งอาวุธนิวเคลียร์รูปแบบใหม่อย่างระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ พวกเขาตั้งชื่อระเบิดทั้งสองลูกว่า “เด็กน้อย” (Little Boy) และ “ชายอ้วน” (Fat Man) ตามขนาดของมัน และแล้วมันก็ทำลายเมืองทั้งสองจนไม่เหลือชิ้นดี ทางการสหรัฐประมาณผู้เสียชีวิตที่ 100,000 คน และมีรายงานผลสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐ (United States Strategic Bombing Survey) ระบุว่าผู้ที่เห็นวินาทีของการทิ้งระเบิดอธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่าเกิดแสงไฟสีน้ำเงิน-ขาววาบขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามด้วยแสงจ้า ความร้อน คลื่นความดัน และเสียงระเบิดดังครืน ก้อนเมฆก่อตัวเป็นรูปคล้ายดอกเห็ด และเกิดฝุ่นควันสีม่วงปนน้ำตาล สถานการณ์อันเลวร้ายนี้นำไปสู่การยอมจำนนของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

.

ประชาชนทั่วโลกต่างดีใจที่สงครามนองเลือดกว่า 6 ปีได้มาถึงบทสรุป กะลาสีสหรัฐจุมพิตหญิงที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนบนถนนไทม์สแควร์จนเกิดเป็นภาพ “V-J Day in Times Square” ขณะที่ชาวญี่ปุ่นบางคนรู้สึกเฉย ๆ และใช้ชีวิตต่อไป บางคนร้องไห้ออกมาที่ต้องพบว่าบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาคลุกไปด้วยฝุ่นควันและหายไปอย่างไร้โครงเดิม

.

“สุสานหิ่งห้อย” (Grave of the Fireflies) ภาพยนตร์ลำดับต้น ๆ ของสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ผู้ผลิตภาพยนตร์อนิเมะชื่อดัง สะท้อนให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมและความยากลำบากในการใช้ชีวิตหลังการทิ้งระเบิด มีการใช้หิ่งห้อยซึ่งมีอายุขัยเพียง 2-3 สัปดาห์ เป็นสัญลักษณ์ของความไม่จีรังยั่งยืนแทนเหล่าเด็ก ๆ ที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย

.

ขณะที่ภาพยนตร์สารคดีของผู้กำกับชื่อดังอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ในเรื่อง “ออพเพนไฮเมอร์” (Oppenheimer) ซึ่งเล่าเรื่องของผู้อำนวยการโครงการวิจัยระเบิดปรมาณู เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ที่ต่อมาถูกนำมาใช้กับญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะกวาดรายได้ทั่วโลกถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับยังไม่มีทีท่าจะเข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้ (ณ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566) ภาพของระเบิดปรมาณูที่ถูกทิ้งลงมาจากอากาศ หรือภาพจำลองคอมพิวเตอร์กราฟิกที่น่าสะเทือนขวัญอาจเป็นสาเหตุหลักที่การฉาย “ออพเพนไฮเมอร์” ล่าช้ากว่าปกติ ขณะที่มีผู้คนส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่าเกิดความกังวลในกลุ่มธุรกิจโรงภาพยนตร์ว่าจะไม่มีผู้เข้าชมภาพยนตร์เพราะไม่มีใครอยากมาทบทวนอดีตอันน่าขื่นขม ยากที่จะลืมได้ลง อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะด้วยการวิเคราะห์แบบใด ก็จะเห็นได้ว่าแม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 77 ปี บาดแผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ระเบิดปรมาณูยังคงไม่หายไปจากสังคมญี่ปุ่น และทิ้งร่องรอยหรือบาดแผลไว้จนถึงปัจจุบัน

.

“ทิ้งระเบิดเพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ”เป็นอีกหนึ่งคำกล่าวเพื่อให้เหตุผลสนับสนุนการใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อทำให้ญี่ปุ่นล้มเลิกความคิดที่จะสู้รบต่อ ตัวเลือกอื่น ๆ อย่างการยกพลขึ้นบกและการโจมตีด้วยระเบิดปูพรมแทนการทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นที่ถกเถียงในวงประชุมของเหล่าผู้นำสงคราม แต่ผู้คนในเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิกลับไม่เหลือ (หรือแม้แต่ไม่มี) ตัวเลือกอื่นนอกจากน้อมรับโชคชะตาที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ลิขิต เกิดเป็นบาดแผลฝังลึกในจิตใจของชาวญี่ปุ่น และอาจเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า “ออพเพนไฮเมอร์” ยังไม่มีวันกำหนดฉายในประเทศญี่ปุ่น ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนไม่ได้ต้องการกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น หากแต่อยากชี้ให้ชวนคิดว่า “ประชาชน” อยู่ตรงจุดใดในสมการเกมการเมือง สงคราม และอำนาจของเหล่ารัฏฐาธิปัตย์

อ้างอิง

https://www.city.hiroshima.lg.jp/site/english/9803.html https://www.airuniversity.af.edu/Portals/10/AUPress/Books/B_0020_SPANGRUD_STRATEGIC_BOMBING_SURVEYS.pdf https://www.inlightoflogos.com/l/a-closer-look-into-grave-of-the-fireflies/ https://theconversation.com/yes-oppenheimer-isnt-opening-in-japan-this-week-but-the-country-has-a-long-history-of-cinema-about-the-war-209876 

เนื้อหา ภัคภณ ประดิษฐกุล

พิสูจน์อักษร วชิรวิชญ์ ปานทน

ภาพ อภิชญาณ์ ระหงษ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *